"ศึกคอนเทนต์สะท้านจอ" สัมมนาทิศทางการสร้างเนื้อหาให้โดนใจผู้ชม

สังคม
28 ส.ค. 56
08:20
225
Logo Thai PBS
"ศึกคอนเทนต์สะท้านจอ" สัมมนาทิศทางการสร้างเนื้อหาให้โดนใจผู้ชม

อุตสาหกรรม "บรอดแคสติ้ง" ในปี 2556 นี้ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการแต่ละรายจึงจำเป็นที่จะต้องนำเสนอ “เนื้อหา” หรือรายการที่ตัวเองมีอยู่ สร้างความสนใจให้กับประชาชนได้หรือไม่ ขณะที่คอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่ออกมาบางครั้งอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ศึกคอนเทนต์สะท้านจอ” โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงผู้ผลิต ผู้สร้างเนื้อหา นักวิชาการอิสระ ผู้สร้างสรรค์สื่อโฆษณา และสื่อมวลชน มาร่วมพูดคุย วิพากษ์ แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ เกี่ยวกับทิศทางการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ และโดนใจผู้ชม

โดย คุณจักรกฤต โยมพยอม ครีเอทีฟ (Creative) รายการโทรทัศน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการคิดคอนเทนต์รายการต่างๆ นอกจากต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร แต่ต้องตอบให้ได้ว่าอยากให้คนดูได้อะไรจากการดูรายการของเรา ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง อีกทั้งต้องพัฒนาผลงานให้ทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ชม เพื่อที่ผู้ชมจะได้เลือกเสพสื่อที่แต่ละองค์กรสร้างสรรค์ขึ้นมา

นอกจากนี้ หลายรายการก็พยายามสร้างกระแสให้เกิดขึ้น เช่น กรณีรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ที่มีการเชิญให้ผู้หญิงมาร่วมแสดงถอดเสื้อ และวาดภาพกลางรายการ หรือการให้ผู้ป่วยทางจิตมาออกรายการ แม้รายการจะออกอากาศไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญนอกจากความรับผิดชอบ คือ การนำมาเป็นบทเรียน และไม่นำเสนอในลักษณะนั้นอีก
 
ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยชำนาญการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่า “การแข่งขันของสื่อมวลชนขณะนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะผู้ผลิตพยายามทำให้คอนเทนต์โดนใจผู้บริโภค โดยเฉพาะความอยากรู้อยากเห็น ในเรื่องของเพศ ภาวะทางความพิการ ชาติพันธุ์ ซึ่งอาจละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่นี่กลับเป็นเรื่องแปลกที่สามารถขายได้กับคนไทย  โดยไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพของคนผลิต ต่างจากในต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ขณะที่ซีรียส์ที่ได้รับความนิยมอย่าง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ถือว่าเมื่อมองในแง่คุณค่าแล้ว เป็นการผลิตคอนเทนต์ที่ดี มีคุณค่าต่อสังคม เพราะคนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มของการคิดรูปแบบเนื้อหา และคอนเทนต์ ในอนาคตอาจมีการพัฒนากล้าคิดกล้าทำมากขึ้น โดยเฉพาะในทีวีดาวเทียม หรือทีวีดิจิตอลในอนาคต
 
ส่วนนายสรนัฐ อุณะพำนัก ซีเนียร์ ดิจิทอล มีเดีย เมเนเจอร์ (Senior Digital media manager) จากบริษัท ซีเจ เวิร์ค แอนด์ สปอร์ แบงคอก (CJ/WORX and SPORE BANGKOK) ซึ่งประสบความสำเร็จมาจากโฆษณาชุด วาโก้ มูส บูท อัพ ( Wacoal Mood Boost-up) มองว่า “การสร้างแบรน์ด้วยการทำไวรัล มี 2 แบบ คือ การสร้างแบรนด์ด้วยตัวแบรนด์เอง และการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งนักการตลาดต้องรู้วิธีการซื้อสื่อให้เหมาะสมกับแบรนด์และตรงเป้าหมาย เพราะการสร้างไวรัลเป็นเสมือนการสร้างอุปทานหมู่ให้คนติดตาม

ขณะเดียวกันนักการตลาดก็ต้องใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและสิ่งที่เป็นกระแสความนิยม เพราะจะทำให้นักการตลาดสามารถนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ได้ เช่น หากคนในสังคมกำลังสนใจละคร และมีการพูดถึงเป็นจำนวนมาก ถ้าจะให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็เลือกนักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์  ซึ่งทำให้ไม่ต้องพยายามสร้างยอดจำนวนผู้เข้าชม เนื่องจากคอนเทนต์จะเป็นตัวที่ดึงดูดผู้บริโภคเอง และบางครั้งคอนเทนต์ในสื่อกระแสหลักก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เช่น จากปากต่อปาก จนทำให้เกิดการพูดถึงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นไวรัลประเภทหนึ่ง ที่นักการตลาดอาจจะแทบไม่ต้องสร้างคอนเทนต์เพิ่มเลย

สำหรับกรณีการโฆษณาแฝง (Tie-In) นักโฆษณาก็ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้ชม โดยโฆษณาแฝงเหล่านี้อาจจะปรากฏอยู่ในคำพูดของนักแสดง วัตถุ เสื้อผ้า ซึ่งทำให้ผู้ชมแทบจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการโฆษณาแฝง
 
ด้าน น.ส.วิภูษา สุขมาก ผู้สื่อข่าว รายการข่าว 9 โมง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า “คอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย มีหลายครั้งที่สื่อหยิบยกมานำเสนอ สื่ออาจจะไม่ได้มองว่าการนำเสนอเรื่องราวที่ได้รับการพูดถึง จะเป็นการโหมกระแสหรือช่วยสร้างกระแสให้กับละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบางครั้งสิ่งที่สื่อนำเสนอเป็นคอนเทนต์ของตัวเอง ก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น ภาพข่าวของนักแสดงจากโซเชียลมีเดีย”

นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียมที่เกิดขึ้น แต่กระบวนทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป ยังทำให้สื่ออาจต้องตั้งคำถามว่า ได้ทำหน้าที่ผู้เฝ้าประตู ผู้คัดกรองข่าวสาร หรือแม้แต่เป็นผู้กำหนดวาระข่าวแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ที่สื่อมวลชนมักกล่าวกันว่า สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน องค์กร และสังคมนั้น  สื่อยังมีอยู่หรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง