วิเคราะห์ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

28 ส.ค. 56
15:53
596
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ซึ่งเคยทำราคาสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 180 บาทเศษ เมื่อเดือนก.พ. 2554 ทำให้ยอดการส่งออกในช่วงนั้นขยายตัวอย่างมาก จากความต้องการใช้ยางพาราของจีนและอินเดีย จนกลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย แทนที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น รวมถึงนโยบายยกระดับราคาของรัฐบาลชุดนี้ที่เคยระบุว่าจะทำให้ได้ราคาที่กิโลกรัมละ 120 บาท อาจเป็นความหวังและเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรออกมาเคลื่อนไหวในเวลานี้

ราคา 180 อาจแม้จะไม่ใช่ราคาพื้นฐานแท้จริงในเวลานั้น แต่เกษตรกรมีรายได้และมีความสุข แต่ก่อนเกิดการชุมนุมราคายางตกลงต่ำสุดถึงกิโลกรัมละ 63 บาท

ยางพาราในประเทศไทย มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 3,600,000 ตัน โดยแต่ละปีจะใช้ในประเทศแค่ 11% ที่เหลือ 89 % จะส่งออกไปยังจีน สหรัฐ ญี่ปุ่นและ อียู ดังนั้นตลาดโลกจึงมีผลสำคัญต่อราคายางของไทย เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การใช้ยางลดลงราคายางจึงลดลงในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเหตุผลนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาใช้อธิบายถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถแทรกแซงราคายางตามที่เกษตรกรร้องข้อได้ ไม่ว่าเกษตรกรจะเสนอมาในราคาเท่าไหร่

แม้จะเศรษฐกิจโลกจะมีผลต่อราคายาง แต่การบริหารนโยบายยางพาราของรัฐบาลที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคายางในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดการชุมนุมของชาวสวนยางในรัฐบาลนี้แล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกจาก กรณี นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามเอ็มโอยูกับจีน ว่าจะขายยางพาราให้จีนในราคา 105 บาท ทำให้ราคายางในประเทศถูกกดลงไม่ถึงกิโลกรัมละ 90 บาท

ครั้งที่ 2 ในสมัยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนต่อมา ได้ใช้ยาแรงรับซื้อยางแผ่นดิบที่ 104 บาท ซึ่งราคายางในขณะนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท ยางส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของรัฐบาล จีนจึงชะลอการซื้อเพื่อรอดูนโยบายการระบายของรัฐไทย ราคายางจึงไม่ถูกกระตุ้นอย่างที่หวังไว้ ต่อนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนที่3 เข้ามากำกับดูแลนโยบายอย่างก้ไม่ได้ออกมาตรการใดที่ชัดเจนจนสิ้นสุดตำแหน่ง ท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดึงปัญหานี้มาดูแลด้วยตัวเองแต่ด้วยปัญหาหลายด้านและการแก้ไขที่ล่าช้าทำให้ราคายางตกลงต่อเนื่องจนเกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ในปัจจุบัน

 

<"">
 
<"">

การชุมนุมในเวลานี้ส่งผลกระทบทำให้ต้องปิดถนนสายหลัก สายเอเชียหมายเลข 41 แยกควนหนองหงษ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจุดสำคัญ เพราะเป็นจุดตัดทางหลวงสองสาย ผ่านไปหลายจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส

ความลำบากเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเดินรถ เช่นรถบรรทุกสินค้าและ รถโดยสารสาธารณะ ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ทำให้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้น 3-4 ชั่วโมง ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10

ด้านสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ระบุว่า มีรถขนส่งสินค้า ไป-กลับในพื้นที่ภาคใต้วันละ ประมาณ 2,000 เที่ยว การใช้เส้นทางอ้อม ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึงคันละ 1,500 บาท ต่อเที่ยว เช่นเดียวกับ รถโดยสารสาธารณะ รถทัวร์ ของ บขส. และ รถร่วม บขส. แม้ยังคงให้บริการตามปกติ แต่ต้องใช้เส้นทางสายรอง โดยแต่ละวันมีรถโดยสารให้บริการประมาณวันละ 300 เที่ยว

สำหรับประชาชนที่จะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่เดินทางจากสายเอเชีย หมายเลข 41 เมื่อถึง อ.ทุ่งสง สามารถใช้เส้นทาง ทางหลวง หมายเลข 403 เส้นทางทุ่งสง-ห้วยยอด-ตรัง-พัทลุง-สงขลา และ เส้นทางที่ 2 ทางหลวง หมายเลข 408 เส้นทางจาก ทุ่งสง-ร่อนพิบูลย์-เมืองนครศรีธรรมราช-สงขลา

 

<"">
 
<"">

ด้านรถไฟท้องถิ่นที่ต้องหยุดให้บริการคือ จาก ทุ่งสง- ไปหาดใหญ่  สถานี บ้านตูล - ชะอวด ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา กับกลุ่มแกนนำ ล่าสุดการรถไฟ ระบุว่าต้องหยุดให้บริการรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ 5 ขบวน เนื่องจากไม่มีขบวนรถหมนุเวียนกลับจากภาคใต้ ขณะที่รถไฟ จาก หาดใหญ่ ยังคงให้บริการตามปกติ ซึ่งกระทบต่อการขนส่งสินค้า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายวันละ 3 ล้านบาท

มาตรการที่จะใช้เยียวยาเกษตรกร จากการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจ จะเสนอของบประมาณ 25,628 ล้านบาท กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดห์หน้า แบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนหนึ่งในระยะเร่งด่วน นำไปจ่ายเป็นเงินสดให้กับชาวสวนโดยตรง ชดเชยราคาปุ๋ย 980,000 ราย ที่เปิดกรีดยางแล้ว จำกัดรายละ 10 ไร่ วงเงินไม่เกิน 5,628 พันล้าน

อีกส่วน คือ การปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยพัฒนาประสิทธิภาพยางพารา ตรงนี้ แบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกให้สหกรณ์สวนยางดำเนินการ อาจเป็นการสร้างโรงงานแปรรูปยางไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ส่วนก้อนใหญ่สุด 15,000 ล้านบาท ให้อุตสาหกรรมส่งออกและแปรรูปยาง โดยรัฐจะรับภาระดอกเบี้ยแทนทั้งหมด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง