เกษตรกรสวนยางบางส่วนยืนยันจะประท้วงใหญ่ 3ก.ย.นี้

ภูมิภาค
29 ส.ค. 56
08:22
56
Logo Thai PBS
เกษตรกรสวนยางบางส่วนยืนยันจะประท้วงใหญ่ 3ก.ย.นี้

ผลการเจรจาระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 4 ภาค เมื่อวานนี้ (28 ส.ค.) แม้จะมีข้อสรุปว่าจะมีการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่มีการแทรกแซงราคายาง ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนยอมรับเงื่อนไขนี้ แต่บางส่วนไม่เห็นด้วยและยื่นยันว่า 3 กันยายนนี้ จะมีการปิดถนนประท้วงอย่างแน่นอก

เครือข่ายเกษตรสวนยางพารา 123 กลุ่ม จ.เชียงราย เตรียมประชุมหารือช่วงบ่ายวันที่ 29 สิงหาคม เพื่อกำหนดท่าทีจะเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน โดยนายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงราย ยืนยัน จะไม่รับข้อเสนอของรัฐบาล ที่จะช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตแทนการรับซื้อตามที่กลุ่มชาวสวนยางเรียกร้อง

เพราะข้อกำหนดการช่วยเหลือนั้นให้เฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกยางพารา ซึ่งทำให้ชาวสวนยางพารา จ.เชียงรายไม่เข้าข่ายจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ ที่รกร้างว่างเปล่า หรือ สปก.4-01 ที่ปรับเปลี่ยนมาจากไร่ข้าวโพด และ มันสัมปะหลัง

แตกต่างกับ เครือข่ายชาวสวนยางภาคอีสาน ซึ่งมีความเห็นออกเป็น 2 ส่วน โดยร้อยละ 30 รู้สึกพอใจกับมาตรช่วยเหลือของรัฐ แต่อีกร้อยละ 70 ไม่ยอมรับข้อเสนอ และยืนยันที่จะเคลื่อนไหวการชุมนุมประท้วงปิดถนนในวันที่ 3 กันยายนนี้

เบื้องต้นเครือขายชาวสวนยางพารา ที่ยืนยัน จะเข้าร่วมชุมนุมปิดถนน คือ จ.ศรีสะเกษ ส่วนเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.นครราชสีมา แม้จะยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล แต่ยังต้องรอฟังความชัดเจนถึงเรื่องราคา รวมทั้งการขอให้ช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ซึ่งหากรัฐบาลช่วยเหลือได้ตามข้อเรียกร้องก็พร้อมจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมปิดถนน

ขณะที่การปิดถนน ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ บริเวณแยกบ้านตูล และเส้นรถไฟ ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร และธุรกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่ไม่สามารถขนส่งสินค้ารถไฟได้

นายพีรพล ทับเวช ผู้อำนวยการศูนย์ภาคใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมที่จะนำวัตถุดิบจากประเทศมาเลเซีย ไปส่งยังโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ไม่สามารถเดินรถได้ ฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายวิเคราะห์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น

สวนธุรกิจขนส่งสินค้าทางรถยนต์ ที่วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานคร กับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ต้องเลี่ยงมาใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 สายปากพนัง-ระโนด เลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย นางรุ่งรัตน์ ชัยจิระธิกุล นายกสมาคมโลจิสติคส์และขนส่งภาคใต้ บอกว่า การเลี่ยงไปใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทำให้มีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเที่ยวละ 1,000 บาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง