เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เตรียมถกแนวทางเคลื่อนไหว 3 ก.ย. พรุ่งนี้

ภูมิภาค
29 ส.ค. 56
14:01
72
Logo Thai PBS
เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เตรียมถกแนวทางเคลื่อนไหว 3 ก.ย. พรุ่งนี้

เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคเหนือ และภาคอีสาน บางจังหวัดเริ่มมีท่าทีอ่อนลง และยอมรับเงื่อนไขการช่วยเหลือด้านต้นทุนของรัฐบาล พร้อมระบุว่าจะไม่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.2556 ขณะที่เครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล และเตรียมหารือเพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหววันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.2556)

นายสมพงษ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางจ.สงขลา และแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต แทนการแทรกแซงรับซื้อหรือประกันราคา โดยวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.2556) แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้จะหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวในวันที่ 3 ก.ย.2556 ที่จ.กระบี่

ขณะที่ชาวบ้านซึ่งใช้ชื่อกลุ่มผู้รักชาติรักความเป็นธรรมจ.พัทลุง ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจ.พัทลุง มารับหนังสือ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันอย่างเร่งด่วน และยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม รวมทั้งยกเลิกการออกหมายจับแกนนำชาวบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข

ด้านเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพาราทั้ง 123 กลุ่ม ในจ.เชียงราย มีมติที่ประชุมชะลอการเดินทางไปเคลื่อนไหวที่จ.อุตรดิตถ์ หลังได้รับการประสานจากเครือข่ายยางพาราในส่วนกลางว่า รัฐบาลยอมรับข้อเสนอที่จะช่วยเหลือด้านทุนต้น แม้เกษตรกรจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินสำหรับปลูกยางพาราตาม

แม้เกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคเหนือบางจังหวัด จะเริ่มชะลอการเดินทางมาเคลื่อนไหวปิดถนนที่จ.อุตรดิตถ์ แต่ชาวสวนยางพาราจ.พิษณุโลก ยืนยันที่จะเดินทางมาในวัน 3 ก.ย.2556 แต่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนที่สัญจรไปมา ด้านคนงานของจ.อุตรดิตถ์เตรียมทำป้ายห้ามไม่ให้มีการปิดถนน บนทางหลวงหมายเลย 11 ระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์ - พิษณุโลก

ขณะที่แกนนำชาวสวนยางพาราแจ้งย้ายจุดการชุมนุมมาเป็นบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 62 - 63 บ้านซำบอน อ.พิชัย ห่างจากจุดเดิม 2 กิโลเมตร เพื่อความสะดวกในการขนส่งเสบียง เบื้องต้นประเมินว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1,000 คน

นายประมูล ผาภูมิ ประธานกลุ่มผู้ปลูกยางพาราจังหวัดกาฬสินธุ์  เผยว่าข้อเสนอรัฐบาลช่วยเหลือด้านต้นทุน เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ถูกจุดจึงต้องการให้ประกันราคายาง หรือแทรกแซงรับซื้อยางพารา

ส่วนการเคลื่อนไหวสมาชิกผู้ปลูกยางพาราในจ.กาฬสินธุ์ทั้ง 37 กลุ่ม จะรอฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้หากผลการประชุมและมีมติออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พร้อมเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ปลูกยางทั่วประเทศ

ด้านเครือข่ายชาวสวนยางพาราจ.อุดรธานีและอุบลราชธานี ยืนยัน ยอมยุติการเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย.2556 โดยยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล แต่ยังต้องรอฟังความชัดเจนถึงข้อเสนอทั้งหมดที่จะไม่ทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อน แต่หากรัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญาพร้อมออกมาเคลื่อนไหว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง