รัฐใช้นโยบายการดูแลราคาสินค้าเกษตรผิดพลาด

29 ส.ค. 56
14:52
725
Logo Thai PBS
รัฐใช้นโยบายการดูแลราคาสินค้าเกษตรผิดพลาด

การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรด้วยการรับซื้อในราคาสูงทุกครั้งที่ราคาตกต่ำของรัฐบาล นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระบุว่าเป็นสาเหตุของการเกิดการชุมนุมทุกครั้งที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากรัฐส่งสัญญาณด้านราคาที่ผิดพลาด ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการรับซื้อสินค้าเกษตรโดยไม่สามารถระบายออกได้

มาตรการแทรกแซงราคาหรือรับจำนำสินค้าเกษตรเพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรในราคานำตลาด กลายเป็นวิธีการสำคัญที่รัฐบาลมักนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จนทำให้ทุกครั้งที่เกิดปัญหาด้านราคา เกษตรกรจึงมักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูง

ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรวิเคราะก์ว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจาการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่มักเข้าไปรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูงทุกครั้ง ที่ราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเห็นว่าราคาอ้างอิงเป็นราคาที่ควรได้มากกว่าราคาตลาด

สำหรับงบประมาณรัฐต้องเข้าไปรับซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของคลังสมองของชาติ ชี้ให้เห็นว่าเฉพาะสินค้าเกษตรหลัก เพียง 3 ชนิดก็ใช้งบกว่า7 43,370 ล้านบาท แบ่งเป็นการรับจำนำข้าวเปลือก 2 ปี การผลิต 54/55 ถึง 55/56 จำนวนกว่า 683,670 ล้านบาท แทรกแซงมันราคาสำปะหลัง 55,200 ล้านบาท แทรกแซงราคายาง 45,000 ล้านบาท

สินค้าที่รับซื้อเกือบทั้งหมดแทบไม่มีการระบายออก ขณะที่สินค้าข้าวซึ่งมีอำนาจต่อรองจากเกษตรกรสูงก็เริ่มจำกัดปริมาณวงเงินรับจำนำในฤดูกาลผลิต นาปี 56/57 เหลือ 350,000 บาทต่อครัวเรือนหลังการปิดบัญชีปีแรก ขาดทุนไปกว่า 136,000 ล้านบาท นั่นทำให้รัฐไม่สามารถรับซื้อยางพาราได้อีก แม้จะมีการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การแทรกแซงควรเน้นช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีปัญหา และไม่เลือกอุดหนุนสินค้าเกษตรตัวใดตัวหนึ่ง โดยระยะยาว รัฐต้องสร้างสมดุลโครงสร้างภาคการเกษตร

สอดคล้องกับ "นิด้าโพล" ที่ประชาชาชนร้อยละ 83.40 เห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนสินค้าเกษตรทุกชนิดให้เท่าเทียมกันทุกกลุ่ม และหากไม่มีงบประมาณที่จะชดเชยราคาสินค้าเกษตรก็ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง