สธ.ไม่พบสารตกค้างในอาหารทะเล-น้ำยังมีปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนเกินค่ามาตรฐาน

Logo Thai PBS
สธ.ไม่พบสารตกค้างในอาหารทะเล-น้ำยังมีปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนเกินค่ามาตรฐาน

หลังเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทะเล จ.ระยองเมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ผ่านไปกว่า 1 เดือน ผลการติดตามสารตกค้างในอาหารทะเลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไม่พบสารตกค้างที่เป็นอันตราย ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ครั้งล่าสุด พบว่า ยังมีค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนเกินค่ามาตรฐาน ที่บริเวณอ่าวพร้าว

ผลการตรวจคุณภาพน้ำทะเลบริเวณรอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง 12 ชายหาดครั้งที่ 3 ที่ได้ทำการตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งนับเป็นเวลาครบรอบ 1 เดือนหลังจากเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่ว โดยมีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา

 
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า บริเวณอ่าวพร้าว 3 จุด ตรวจวัดค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งค่ามาตรฐานสำหรับ การอนุรักษ์แหล่งปะการังนั้นต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม ส่วนแบบนันทนาการก็ไม่ควรเกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยจากการตรวจสอบพบว่า มี 1 จุด วัดได้ 2.6ไมโครกรัมต่อลิตร จึงขอเตือนให้ประชาชนไม่ควรเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
จากการเปรียบเทียบเหตุน้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นบริเวณอื่น คาดว่า ปริมาณTPH จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 1 เดือน โดยจะตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องอีก 1ปี ขณะเดียวกัน ยังตรวจสอบตะกอนดินใต้ท้องทะเล ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คาดว่า จะทราบผลการตรวจวัดคุณภาพใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

    

 
ส่วนผลการตรวจโลหะหนักก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งคุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่ง จังหวัดระยอง ทั้ง 9 สถานี ก็มีค่าปรอทอยู่ในมาตรฐาน แต่ค่าปิโตรเลียมที่ปากคลองแกลงยังเกินกำหนดอยู่
 
นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานปลัด กระทรวงทรัพย์ฯ จะเร่งวางแผนกรอบแนวทางตรวจสอบ ประเมิณผล ความเสียหาย และแผนฟื้นฟูให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
 
ด้านนายแพทย์กฤษฎ์ ปาลสุทธิ์ นายแพททย์สาธารณสุข จ.สะระยอง เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เก็บตัวอย่างอาหารทะเลสด จำนวน 4 ครั้ง จากสัตว์ทะเล อาทิ ปลา ปู กุ้ง หอย และปลาหมึก เพื่อตรวจหาสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งในน้ำมันดิบและมีการตรวจหาสารโลหะหนัก ประเภทสารหนู สารตะกั่ว และสารปรอท
 
โดยมีรายงานจากการเก็บตัวอย่างตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -1 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าทุกตัวอย่างที่เก็บตรวจนั้น ไม่พบสารที่เกินค่ามาตรฐานประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรายงานผลตรวจจากการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 15,22 และ30 สิงหาคมที่ผ่านมา
 
เบื้องต้น จากข้อมูลที่พบยืนยันว่า อาหารมีความปลอดภัย โดยจะมีการเก็บตัวอย่างตรวจสอบทุก 15 วัน ต่อเนื่อง 3 เดือน และหลังจากนั้นจะเก็บตัวอย่างในทุกเดือน หากพบมีสารปนเปื้อนจะทำการเก็บตัวอย่างเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง