ทายาทสานต่อเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ครูไพบูลย์

Logo Thai PBS
ทายาทสานต่อเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์ครูไพบูลย์

ผลงานเพลงที่ยังโลดแล่นอยู่ ยิ่งมีความหมายเมื่อเราได้ทราบถึงที่มา 2 ทายาทบุตรขัน ก็คิดเช่นนั้น จึงตั้งใจทำพิพิธภัณฑ์บ้านครูไพบูลย์ บุตรขัน ในย่านบ้านเก่าที่ปทุมธานี ให้มีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดูแลจัดการ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำพิพิธภัณฑ์มาก่อน ไทยพีบีเอสจะพาไปฟังแนวคิด และเยี่ยมบ้านเก่าของคีตกวีลูกทุ่งไทย

ยังนำเสาไม้ และบานหน้าต่างบางส่วนจากบ้านหลังเดิมมาสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านครูไพบูลย์  เพื่อคงความรู้สึกเมื่อนึกถึงบ้านไม้หลังเก่าของครูคีตกวีลูกทุ่งไทย และคุณแม่ แม้จะแวะเวียนมาในช่วงวันหยุด และใช้ชีวิตส่วนใหญ่หลังปี 2500 เป็นต้นไป เพราะป่วยหนัก จนเลี่ยงพบปะผู้คนหนีมาซึมซึบบรรยากาศท้องทุ่งย่านปทุมธานี แต่ช่วงบั้นปลายชีวิตที่อ่อนแอ กลับอบอุ่นที่สุดเมื่อมีมารดาดูแลไม่ห่างจนเป็นที่มาของเพลงรักที่กล่าวถึงบุพการีไว้ได้ลึกซึ้งสุดใจ 

เอ่ยปากว่าโชคดี ที่ยังเก็บข้าวของชิ้นสำคัญของลุงเอาไว้ แม้จะเหลือไม่มากนัก แต่สมุดประพันธ์เพลง ปากกา หรือแม้แต่กระเป๋าใส่โน้ตเพลงเวลาไปห้องอัดเสียง ก็ยังมีคุณค่ายิ่งต่อลูกหลาน และแฟนเพลงของคีตกวีผู้ล่วงลับ สุริยะ บุตรขัน เคยมาบ้านเก่าริมน้ำตั้งแต่ยังเล็ก เขาจำภาพที่ลุงชอบนั่งแต่งเพลงตีนกระไดหน้าบ้าน และนำแผ่นเสียงเพลงโปรดมาติดประดับรอบประตูได้ไม่เคยเลือน  บรรยากาศเหล่านี้ถูกจำลองขึ้นอีกครั้งในพิพิธภัณฑ์ครูไพบูลย์ บุตรขัน บ้านไม้หลังใหม่บนที่ดินผืนเดิมที่ตั้งใจสร้างให้คล้ายบ้านเก่าในความทรงจำที่ครูหวงแหนที่สุด แรงบันดาลใจขับออกมาเป็นเพลงหวาน "รังรักในจินตนาการ"

แม้เกิดไม่ทันเห็นหน้าทวด แต่บทเพลงที่วนเวียนในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้าน และขณะขับรถ ยังทำให้วันวิสาข์ รู้สึกใกล้ชิด และภูมิใจในสายตระกูลบุตรขัน เธออาสาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลบ้านหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สมความตั้งใจของคนในครอบครัว

เป็นการร่วมกันทำพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกในชีวิต ในฐานะหลาน และเหลนของครูไพบูลย์ บุตรขัน ทั้งคู่เองได้รับมรดกที่ดินตกทอดมา และยืนยันว่าจะไม่ขาย เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความทรงจำที่ดินผืนนี้อยู่ในย่านปทุมธานี หน้าบ้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศแบบนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงดังคุณภาพมาแล้วมากมาย ดังนั้น การเก็บรักษาบ้านเก่าไว้ ก็เหมือนการเก็บภาพความทรงจำในการทำงานของคีตกวี ลูกทุ่งไทยเอาไว้ด้วย

ข้าวของทุกชิ้นในบ้านมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ถูกซ่อมแซมก่อนนำมาจัดแสดงอยู่หลายครั้ง ซึ่งคุณค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุของสิ่งของเท่านั้น แต่ทุกชิ้นยังเป็นกระจกเงาสะท้อนการทำงานที่มุ่งมั่น จริงจังของของครูลูกทุ่งที่ได้รับการยอมรับว่ายังเป็นที่หนึ่งในด้านงานประพันธ์เพลง ในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านท้องคุ้ง ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ยังวางแผนจัดเส้นทางการเรียนรู้ภายในจังหวัด ด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์อีกแห่งไว้ที่วัดสำแล  เชื่อมโยงการเดินทางมายังบ้านพิพิธภัณฑ์หลังนี้

2 ทายาทคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ภายในต้นปีหน้า เหลือเพียงทำเขื่อนกันน้ำเซาะบริเวณหน้าบ้าน และหาของใช้ส่วนตัวของครูมาเพิ่มเติมเท่าที่จะทำได้แล้ว ส่วนแรงสนับสนุนด้านเงินทุนนั้น ยังเป็นการจัดการในครอบครัว แต่ในอนาคตอาจมีการจำหน่ายเสื้อยืดเป็นที่ระลึก เพื่อนำรายได้บางส่วนมาพัฒนา ปรับปรุง ให้บ้านไม้ในความทรงจำยังทำหน้าเป็นสัญลักษณ์ สร้างภาพชีวิต และเส้นทางสร้างงานของอัจฉริยภาพนักแต่งเพลงไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง