สมศักดิ์ชี้ "หมดปัญญา" ทำหน้าที่เป็นกลาง

การเมือง
6 ก.ย. 56
14:44
41
Logo Thai PBS
สมศักดิ์ชี้ "หมดปัญญา" ทำหน้าที่เป็นกลาง

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 141 คนร่วมลงชื่อยื่นเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภากรณีวินิจฉัยปิดอภิปราย และลงมติมาตรา 5 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว. อาจเข้าข่ายริดรอนสิทธิสมาชิกรัฐสภา ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กล่าวเปิดใจกลางห้องประชุมรัฐสภายากจะบังคับให้สมาชิกเชื่อถึงความเป็นกลางทางการเมือง

หลังสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นอภิปรายทวงถามถึงความเป็นกลางทางการเมืองในการทำหน้าที่ควบคุมการประชุมรัฐสภา ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ต้องกล่าวเปิดใจกลางที่ประชุมว่า ไม่ขอแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ารับใบสั่งทางการเมืองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นความจริง พร้อมยอมรับว่า ไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ หากแต่ย้ำว่าหนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน และจะพิสูจน์การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อไป

หลังจากนั้น ประธานรัฐสภา ก็วินิจฉัยว่า การลงมติมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ซึ่งมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมนั้น ได้จบสิ้นลงแล้ว และชี้ว่าสมาชิกรัฐสภาต้องเดินหน้าพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วไม่เกิน 2 ปี จะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้

และแม้ประธานในที่ประชุมจะให้เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เห็นด้วย จึงต้องสั่งพักการประชุมไป 10 นาที หลังจากนั้น เปิดให้สมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อมาตรา 6 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามวาระการพิจารณาแล้ว และขณะนี้ยังคงอภิปรายอยู่ โดยคาดว่าจะอภิปรายต่อเนื่องไปถึงเวลา 22.00 น. ก่อนพิจารณาปิดอภิปราย และลงมติต่อไป

ส่วนผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายนิคมกรณีวินิจฉัยให้ปิดอภิปรายและลงมติวาระที่ 2 ของมาตรา 5 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวม 141 คน ร่วมลงชื่อยื่นเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ด้วยข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ริดรอนสิทธิของสมาชิกรัฐสภา, ไม่เป็นกลางทางการเมือง, มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงอาจเข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับ และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง