รู้จัก "เกษตรกรรม-งานทอผ้า" วิถีชีวิต 4 เชื้อสายในเวียดนาม

Logo Thai PBS
รู้จัก "เกษตรกรรม-งานทอผ้า" วิถีชีวิต 4 เชื้อสายในเวียดนาม

ผู้คน 4 เชื้อสายในเวียดนามใต้ กิงห์ จาม จีนและเขมร ต่างมีเอกลักษณ์ที่สืบทอดกันมา ทั้งประเพณี วิถี ความเชื่อ ภาษา บ้านเราอุษาคเนย์วันนี้ พาไปสัมผัสหมู่บ้านเขมรในเวียดนามที่ดำรงชีพด้วยการเกษตรและทอผ้า

ลวดลายประยุกต์จากวรรณกรรมทางศาสนา ดอกไม้ พรรณไม้ เกิดจากจินตนาการที่มีต่อธรรมชาติรอบตัว ที่กว่าจะสร้างสรรค์บนผืนผ้าได้ ก็ต้องใช้เวลาและความเชี่ยวชาญไม่น้อย แต่ "เนียง สะไม" และครอบครัว ยังสืบทอดต่อมาในชุมชนวันทั้น เมืองเจาด๊ก จ.อานยาง ใกล้พื้นที่ชายแดนกัมพูชา เป็นมรดกภูมิปัญญา นับจากบรรพบุรุษเชื้อสายเขมรมาตั้งรกรากที่นี่ 

 
กว่า 40 ปีที่ทอผ้าเป็น และใช้ความรู้นี้เสริมรายได้ในครอบครัว ทายาทเขมร วัย 55 ปี ยังถ่ายทอดต่อให้กับหลานๆ และเด็กสาวในหมู่บ้าน หวังต่อลมหายใจให้องค์ความรู้ในการถักทอมัดหมี่โบราณไว้ในคนรุ่นใหม่ 
 
เนียง สะไม ครูภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองเขมร จ.อานยาง บอกว่า ได้รับสืบทอดความรู้ในการทอผ้ามาจากพ่อแม่ พร้อมกับลูกๆ 7 คนในครอบครัว ทั้งวิธีการมัดย้อมสีที่ใช้สีจากธรรมชาติ การทอ และลวดลายล้วนเป็นรูปแบบดั้งเดิม  ซึ่งตอนนี้ ได้สอนทอผ้าให้เด็กๆ ในหมู่บ้านมาแล้ว 6 รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยหวังว่า ความรู้นี้จะไม่หายไป ส่วนตัวยังศึกษาลวดลายประยุกต์บนผ้าทอของไทยที่เธอมองว่าสวยงาม หวังนำมาพัฒนาลายผ้าทอของตนบ้าง 

    

 
ก่อนเส้นทางน้ำโขงจะสุดสายที่เวียดนามใต้ สายน้ำแยกเป็น 9 สาย เรียกว่าซากู๋ลองหรือแม่น้ำ 9 มังกร นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ทำให้ชาวบ้านเชื้อสายเขมรในหมู่บ้านแห่งนี้ ทำนาได้ปีละไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และยังชีพด้วยการเกษตรมากว่า 100 ปี นับจากก่อตั้งหมู่บ้าน//ผลผลิตข้าวและปลากว่าครึ่งที่บริโภคอยู่ในประเทศและส่งออก ได้จากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ วิถีเกษตรกรรมของคนในหมู่บ้านแทบไม่เปลี่ยนไป 
 
เอือน ชาวเวียดนามเชื้อสายเขมร ชาวเวียดนามเชื้อสายเขมร บอกว่า ร้อยละ 90 ของคนในหมู่บ้านวันทั้น มีเชื้อสายเขมรและยังชีพด้วยการเกษตร โดยอาศัยระบบชลประทานของพื้นที่ นำน้ำจากแม่น้ำโขงมาหล่อเลี้ยงนาข้าวชาวบ้าน 
 
เหวียง เทวี่ยว เหวี่ยง วัน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานเกิ่นเทอ บอกว่า เอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ของผู้คนในเวียดนามใต้ เห็นได้จากการแต่งกายและภาษาพูด ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ เกิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษ 17-18 ที่มีคนจีน เขมร เวียดนาม อพยพมาอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก พร้อมรักษาวิถีของตนไว้ 
 
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนามใต้ นำความสมบูรณ์มาสู่พืชผลการเกษตร และวิถีประมงที่ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ เช่นกิงห์ จาม จีนและเขมรได้พึ่งพา ต่างมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อมาและสัมผัสได้ถึงปัจจุบันในดินแดนปลายแม่น้ำโขง อยู่อย่างสงบงามเรียบง่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง