"ซาอุฯ" ส่งหนังสิทธิสตรีเข้าชิง "ออสการ์" เป็นครั้งแรก

Logo Thai PBS
"ซาอุฯ" ส่งหนังสิทธิสตรีเข้าชิง "ออสการ์" เป็นครั้งแรก

แม้ทางการซาอุดิอาระเบียจะไม่สนับสนุนให้มีการผลิตภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อบันเทิง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคทำให้ ไฮฟา อัล มานซอร์ ผู้กำกับหญิงคนแรกของชาติ จนวันนี้ผลงานของเธอได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเป็นครั้งแรก

หลังถูกอับดุลลาห์ นักปั่นรุ่นเยาว์ในหมู่บ้านรังแก วาดจ์ดา เด็กหญิงวัย 11 ขวบจึงมุ่งมั่นที่จะหาซื้อจักรยานเป็นของตนเองเพื่อแข่งกับเด็กชาย แม้ซาอุดิอาระเบียมีกฎห้ามสตรีขี่จักรยาน แต่วาดจ์ดาก็เริ่มหาเงินด้วยวิธีต่าง ๆ จนถึงขั้นสมัครแข่งขันอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านเพื่อนำเงินรางวัลมาซื้อจักรยานในฝัน คือเรื่องราวการต่อสู้ของเด็กสาวในสังคมที่สิทธิของสตรียังถูกปิดกั้นใน Wadjda ภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกจากทางการของประเทศซาอุดิอาระเบีย ให้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของชาติที่เสนอชื่อชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ

การต่อสู้ของวาดจ์ดาสะท้อนการไม่ยอมอ่อนข้อต่อการจำกัดเสรีภาพของ ไฮฟา อัล มานซอร์ ผู้กำกับหญิงเจ้าของผลงาน ที่เคยทำสิ่งท้าทายสังคมมามากมาย ตั้งแต่ขับรถไปงานแต่งงานของตนเองในประเทศที่ห้ามผู้หญิงขับรถ และเลือกสร้างภาพยนตร์ในประเทศที่การฉายภาพยนตร์เป็นสิ่งต้องห้าม

กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนแรกของซาอุดิอาระเบีย ไฮฟา อัล มานซอร์ต้องพบกับอุปสรรคระหว่างการสร้าง เมื่อการเลือกใช้บ้านเกิดเป็นสถานที่ถ่ายทำเพื่อความสมจริง ทำให้บ่อยครั้งเธอต้องแอบกำกับหนังอยู่ในรถตู้ โดยสั่งการผ่านวิทยุสื่อสารและกำกับการแสดงผ่านจอมอนิเตอร์ เนื่องจากการอยู่ในที่สาธารณะที่ห้อมล้อมโดยทีมงานที่มีแต่ผู้ชายจะทำให้เธอเป็นเป้าโจมตีของชาวบ้านละแวกกองถ่ายที่เคร่งครัดในประเพณีอย่างสูง

จนเมื่อหนังได้ออกฉายในต่างประเทศเมื่อปีก่อน Wadjda ก็ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ซึ่งหน่วยงานส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้พิจารณาภาพยนตร์ที่จะส่งเข้าชิงออสการ์ กล่าวว่า Wadjda ถ่ายทอดวัฒนธรรมของชาติอย่างมีเอกลักษณ์ และสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมในระดับสากล

ความสำเร็จของ Wadjda ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามสตรีขี่จักรยานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดย ไฮฟา อัล มานซอร์ กล่าวว่าแม้ทุกวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหรือถูกสังหารด้วยการปาหินอันป่าเถื่อน แต่เธออยากสะท้อนปัญหาสังคมที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะประเด็นอย่างการควบคุมขับรถหรือริดรอนสิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นการขัดขวางการพัฒนาสตรีอย่างร้ายแรง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง