การก้าวสู่สากลของ "Booker Prize"

Logo Thai PBS
การก้าวสู่สากลของ "Booker Prize"

เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรมของอังกฤษ เมื่อผู้มอบรางวัล Booker Prize เกียรติยศที่เคยสงวนไว้สำหรับนักเขียนเครือจักรภพแห่งประชาชาติ ได้เปลี่ยนกฎให้นักเขียนทุกชาติมีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าชิงได้ ที่สร้างทั้งเสียงสนับสนุนและการต่อต้านที่มองว่า เป็นทำลายเอกลักษณ์รางวัลของกลุ่มนักเขียนในคอมมอนเวลธ์

กว่า 40 ปีแห่งการแจกรางวัล Booker Prize ถือเป็นสถาบันที่ใช้เป็นเวทีแจ้งเกิดของนักเขียนชาวอังกฤษมาอย่างยาวนาน แต่รางวัลที่เคยสงวนไว้เฉพาะนักเขียนจากเครือจักรภพแห่งประชาชาติ, ไอร์แลนด์ และซิมบับเว กำลังก้าวสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้นในปีหน้านี้ เมื่อผู้ดูแลผลประโยชน์ของสถาบัน Booker Prize ประกาศเปิดรับผลงานวรรณกรรมในภาษาอังกฤษจากผู้ประพันธ์ทุกสัญชาติ แต่ยังคงเป็นผลงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในสหราชอาณาจักร

โจนาธาน เทย์เลอร์ ประธานสถาบัน Booker Prize กล่าวว่า ทางสถาบันได้ปรึกษากับกลุ่มนักเขียน, สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือ ทั้งในและต่างประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งการปรับตัวสู่ความเป็นสากล จะทำให้มาตรฐานของรางวัลมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงได้รับการต่อต้านจากกลุ่มนักเขียนในอังกฤษ ที่มองว่าการเปิดรับนักเขียนจากภายนอกเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของรางวัลที่เป็นแหล่งรวมงานเขียนของคอมมอนเวลธ์ ซึ่งสิ่งที่วงการน้ำหมึกแดนผู้ดีกังวลที่สุดคือการถาโถมของผลงานโดยนักเขียนจากสหรัฐซึ่งอิงกระแส จะทำให้เวทีเต็มไปด้วยผลงานตามกระแสมากกว่าเดิม ขณะที่นักเขียนอเมริกันเองก็มีรางวัลพูลิทเซอร์ เป็นเวทีพิสูจน์ความสามารถอยู่แล้ว หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า Booker Prize กำลังเดินตามรอยความสำเร็จของ โฟลิโอ ไพรซ์ รางวัลวรรณกรรมน้องใหม่ที่ถูกจับตาจากการเปิดรับงานเขียนภาษาอังกฤษจากผู้ประพันธ์ทั่วโลก ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่ามาตรฐานของ Booker Prize ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมที่กรรมการอ่านผลงานที่เข้าชิงทุกเล่มจะเสื่อมลง เพราะการเปิดรับแบบไม่จำกัดสัญชาติจะทำให้กรรมการไม่สามารถอ่านผลงานที่เข้าชิงทั้งหมดได้

ตัวแทน Booker Prize มั่นใจว่าแรงต่อต้านของนักเขียนอังกฤษจะไม่ลุกลามไปถึงการคว่ำบาตรรางวัลในอนาคต เพราะที่ผ่านมาความสำเร็จบนเวทีนี้ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผลงานผู้ชนะตั้งแต่ร้อยละ 500 ถึงร้อยละ 1,500 เลยทีเดียว ซึ่งสถาบันเตรียมจำกัดโควต้าผลงานที่เข้าชิงให้มีจำนวนที่เหมาะสม และมองว่าแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเหมือนทัศนคติน้ำครึ่งแก้วของกลุ่มนักเขียน เพราะแม้การเปิดกว้างจะทำให้นักเขียนอังกฤษคว้ารางวัลยากขึ้น แต่เวทีที่ใหญ่ขึ้นก็หมายถึงเกียรติยศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง