"กรณ์" ระบุ พ.ร.บ.2 ล้านล้านทำประเทศขาดทุน

การเมือง
21 ก.ย. 56
03:19
345
Logo Thai PBS
"กรณ์" ระบุ พ.ร.บ.2 ล้านล้านทำประเทศขาดทุน

สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว รับประกันความต่อเนื่องหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะทุกๆ รัฐบาลนับจากนี้ ต้องทำตามแผนสร้างอนาคต

นายกรณ์ ถามว่าการใช้เงินในระบบงบประมาณปกติ ไม่ทำให้เกิดการต่อเนื่องของโครงการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่โครงการล่าช้า เป็นปัญหาของฝ่ายบริหารในการบริหารจัดการ ไม่ใช่มาจากปัญหาของที่มาจากเงินงบประมาณแต่อย่างใด

นายกรณ์ กล่าวว่า การลงทุนโครงการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตาม ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เชื่อว่าในหลายๆ โครงการจะทำให้ประเทศขาดทุนเงินสด และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น
รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ เชื่อว่าจะขาดทุนเงินสดปีละ 30,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง ทำแล้วเสร็จเชื่อว่าจะขาดทุนถึง 100,000 ล้านบาททุกปี ทำให้รัฐบาลต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายชดเชยในส่วนที่ขาดทุนไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 เส้นทางเพิ่มเติมในพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อว่าจะขาดทุนเงินสดถึงปีละ 200,000 ล้านบาทเช่นกัน ทำให้ต้องนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาชดเชย

ขณะที่นายชัชชาติ ชี้แจงว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐบาล ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากจะนำเฉพาะค่าโดยสารมาคิดการคืนทุนก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง เพราะรัฐบาลมองประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูง คือการสร้างเศรษฐกิจ สร้างเมือง สร้างรายได้ คล้ายๆ กับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนสร้างถนน ใช้เงินไป 600,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เก็บเงินคนใช้ถนน แต่สิ่งที่ได้คือความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญของเมือง

นายชัชชาติ ยืนยันว่าความเป็นไปได้ของการทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้น ได้มีการใช้ข้อมูลจากการทำสำรวจโดยดำเนินการหลักวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีการบิดเบือนแต่อย่างใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง