เปิด ปัญหา-ความขัดแย้ง "การจัดการน้ำ" พื้นที่อุทุกภัย

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ย. 56
14:39
525
Logo Thai PBS
เปิด ปัญหา-ความขัดแย้ง "การจัดการน้ำ" พื้นที่อุทุกภัย

ขณะนี้ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในวันเสาร์นี้ (28ก.ย.) ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้วในขณะนี้ได้รับผลกระทบมากขึ้น แต่การบริหารจัดการน้ำเช่นการเปิดประตูน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม ก็กำลังเป็นปัญหาในหลายจังหวัด เพราะถูกตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า จึงส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมสูงยิ่งขึ้น

ผู้ประสบอุทกภัยหลายจังหวัด เช่นที่ จ.อุทัยธานี และ จ.ปราจีนบุรี เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมให้มากที่สุด เพราะเกิดความแตกต่างระหว่างพื้นที่หลังประตูน้ำและท้ายประตูน้ำที่ฝั่งหนึ่งถูกน้ำท่วมสูง แต่อีกฝั่งไม่ถูกน้ำท่วม จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่กรมชลประทานไม่เปิดประตูระบายน้ำไว้ก่อนเกิดเหตุน้่ำท่วม

 
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานอธิบายว่า ความขัดแย้งในการเปิดประตูระบายน้ำ เช่น จ.ปราจีนบุรี เป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนการระบายน้ำเข้าทุ่งที่ปราจีนบุรีน่าจะส่งผลให้ระดับน้ำลดลงไม่มากนัก และขณะนี้ทุ่งนาบางแห่งก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
 
ก่อนหน้านี้ได้เกิดคดีฟ้องร้องกรมชลประทานเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำไปท่วมพื้นที่อื่นมาแล้ว และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ถูกผู้ประสบภัยฟ้องร้องกับศาลปกครองได้ เช่น คดีที่เกษตรกรจังหวัดนครปฐมฟ้องกรมชลประทานให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากการผันน้ำเข้าไปท่วม ต.บางระกำ และ บางเลน

    

 
ซึ่งศาลพิพากษาให้กรมชลประทานแพ้คดี เพราะกรมชลประทานจัดการน้ำผิดพลาด ไม่มีการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีหนังสือแจ้งเตือนภัยไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดล่วงหน้า เจ้าหน้ากรมชลประทานผู้ปฎิบัติงาน จึงไม่กล้าตัดสินใจเปิดปิดประตูระบายน้ำเอง ถ้าไม่ได้รับคำสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ กบอ.
 
แต่ในวันนี้ (26ก.ย.) ชาวบ้านจาก 4 ตำบล คือ ต.ทัพทัน, โคกหม้อ, หนองหญ้าปล้อง และทุ่งนาไทย จ.อุทัยธานี เหนือเขื่อนวังร่มเกล้า ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ชลประทานระบายน้ำลงท้ายเขื่อนมากขึ้น หลังบ้านและนาข้าวถูกน้ำท่วม เสียหายนับหมื่นไร่ ในที่สุดชลประทานยอมยกประตูระบายน้ำ เฉพาะบานกลางสูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตร และติดตามผลกระทบต่อไป

    

 
เกาะติดสถานการณ์ "น้ำท่วม" ภาคกลาง-อีสาน
 
ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ชาวต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ต้องสร้างเพิงพักชั่วคราว และขนย้ายทรัพย์สินไปไว้บนถนนริมคลองชลประทาน เพราะไม่มั่นใจว่า คันดินจะสามารถรับแรงดันน้ำได้ เช่นเดียวกับอีกหลายตำบล ริมแม่น้ำที่ถูกน้ำท่วมสูง 40 - 50 เซ็นติเมตร
 
ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร พบว่า นิคมเตรียมพร้อมรับมืออย่างดี จึงย้ำกับนักลงทุนต่างชาติและเจ้าของโรงงานว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน
 
ที่ภาคเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตำบลโกรกพระ อำเภอโกรกพระ บางจุดท่วมสูงเกือบ 50 เซนติเมตร ขณะนี้จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 10 อำเภอ 29 ตำบล
 
ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.ชัยภูมิ มีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ทำให้น้ำในลำน้ำชีเพิ่มขึ้น และพนังกั้นน้ำอำเภอบ้านเขว้าแตก น้ำไหลท่วมบ้านของชาวบ้านหนองโสมงกว่า 100 หลัง

    

 
ขณะที่น้ำจากลำน้ำชี ยังเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านกว่า 500 หลัง สูงเกือบ 1 เมตร โรงเรียนถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนดแล้ว 4 แห่ง ใน 9 อำเภอ ส่วนน้ำจากลำปะทาว ยังไหลเข้าตัวเมืองชัยภูมิอย่างต่อเนื่อง ทำให้เทศบาลเมืองชัยภูมิ ต้องเร่งสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง
 
บ้านที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำสายหลัก ทั้งในจ.ยโสธร, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ก็ถูกน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม โดยเฉพาะน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ ที่ไหลผ่านเลี่ยงตัวเมืองนครราชสีมา เพิ่มขึ้นจนเกือบจะท่วมผิวการจราจรถนนสายบายพาส ขณะที่น้ำคลองส่งน้ำของทางชลประทาน เริ่มไหลเข้าท่วมบ้าน ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองนครราชสีมา ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องเร่งเก็บของขึ้นที่สูง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง