ชาวสวนยาง จ.นครศรีฯ ยังชุมนุมปิดถนนสี่แยกควนหนองหงส์

ภูมิภาค
27 ก.ย. 56
04:19
174
Logo Thai PBS
ชาวสวนยาง จ.นครศรีฯ ยังชุมนุมปิดถนนสี่แยกควนหนองหงส์

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ในจ.น่าน ยุติการชุมนุมปิดถนนประท้วง โดยยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล ในการแทรกแซงราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ผู้ชุมนุมชาวสวนยางความขัดแย้งกัน ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือ โดยหลังการเปิดพื้นที่การจราจรได้เพียงชั่วโมงเดียว กลุ่มผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งกลับมาชุมนุมปิดถนนเหมือนเดิม

กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยาง ที่ชุมนุมปิดถนนบริเวณสี่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยุติการชุมนุม และเปิดถนนให้รถ ผ่านไปมาได้ตามปกติ เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.56) หลังการเปิดถนนเพียงชั่วโมงเดียว กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำบันทึกข้อตกลงกับนายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และกลับมาปิดถนนชุมนุมกันอีกครั้ง โดยในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัวนำสิ่งกีดขวางบนถนนออก เพื่อให้รถสัญจรผ่านได้ตามปกติ มีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย พยายามขัดขวางไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายซากรถ และเต็นท์ออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยทำการปิดล้อมบริเวณดังกล่าว และพยายามปิดเส้นทางการจราจรอีกครั้ง ซึ่งแกนนำชาวสวนยางที่มีความเห็นต่างกัน ทั้ง 2 กลุ่ม แม้ว่าจะได้เจรจากันแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป
 
ส่วนกรณีการให้ความช่วยเหลือ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่าการช่วยเหลือชาวยางพารา รัฐบาลยึดตามมติคณะรัฐมนตรีด้วยการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งขณะนีมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้วเกินกว่าร้อยละ 60
 
หลังจากนี้จะเร่งตรวจสอบความถูกต้องเพื่อจ่ายเงินให้ชาวสวนยางอย่างรวดเร็ว ส่วนข้อเรียกร้องใหม่นั้น ต้องพูดคุยทำความเข้าใจต่อไปและไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีการจ่ายเงินส่วนแรกไปแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนไม่น่ามีปัญหา คาดว่าตัวเลขการเข้ามาลงทะเบียนจะทยอยเพิ่มขึ้น
 
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน และผู้ประกอบการค้าข้าวโพด ที่ได้ชุมนุมต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.56 ขณะนี้ได้สลายการชุมนุมแล้ว โดยได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล กับผู้ประกอบการและตัวแทนเกษตรกร ซึ่งมีข้อตกลงว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือโดยการแทรกแซง รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความไม่เกิน ร้อยละ 30 ในราคา 7 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 14.5 รับซื้อในราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม
 
และจะมีการจ่ายค่าขนส่งแก่เกษตรกรอีก กิโลกรัมละ 1.50 บาท รายละ 25 ตัน โดยจะให้การช่วยเหลือเกษตรกรทั้งที่มี และไม่มีเอกสารสิทธิ โดยยึดรายชื่อเกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนไว้ เมื่อปี 2553 ส่วนเกษตรกรที่มีรายชื่อใหม่ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยระยะเวลาการแทรกแซงการรับซื้อ ถึงวันที่ 30 เม.ย.57
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง