ปชป.-ส.ว.ยื่นศาลฯ วินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ผิดกฎหมาย

การเมือง
28 ก.ย. 56
14:45
63
Logo Thai PBS
ปชป.-ส.ว.ยื่นศาลฯ วินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ผิดกฎหมาย

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.อ้างอิงถึงสิทธิตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นหนังสือผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.นั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หลังร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภาระบุอาจต้องใช้ดุลพินิจว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากศาลเคยมีคำวินิจฉัยเงื่อนไขตามมาตรา 154 นั้นจะใช้เฉพาะร่างกฎหมายทั่วไป ขณะที่วันนี้ รัฐสภาลงมติเห็นชอบให้ผ่านในวาระที่ 3 แล้ว ด้วยคะแนน 358 ต่อ 2 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ตามที่มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ที่ประชุมรัฐสภานัดพิเศษใช้เวลาหารือแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับคะแนน พร้อมกับการลงมติด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้การลงคะแนนเป็นไปโดยเปิดเผยตามข้อบัญญัติมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ รวม 3 ชั่วโมง ก็สรุปคะแนนการลงมติในวาระที่ 3 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ด้วยคะแนน 358 ต่อ 2 เสียง
 
ซึ่งแม้ก่อนลงมติ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงไม่ควรลงมติในวาระที่ 3 ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่จะวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญกรณีเข้าข่ายขัดมาตรา 68 หรือไม่แล้ว และอาจส่งผลในทางปฏิบัติภายหลังได้ แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลับลุกขึ้นประท้วง ทำให้ประธานในที่ประชุมพิจารณาเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ
 
แต่ระหว่างนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กว่า 10 คน ได้นำพวงหรีดที่เขียนข้อความว่า "สภาทาส" มาวางบริเวณหน้าบัลลังก์ จากนั้นก็พากันเดินออกจากห้องประชุม หรือ วอล์กเอาต์ ซึ่งนอกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมลงมติแล้ว ยังพบว่า ส.ว.บางคน ยังไม่แสดงตัวในห้องประชุมเพื่อลงมติด้วย
 
และภายหลังการลงมติ กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อวุฒิสภา 67 คน เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส. 143 คน ผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการขอให้วินิจฉัยความชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 เนื่องเห็นเป็นร่างพระราชบัญญัติประเภทหนึ่ง และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และด้วยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ พร้อมกับขอให้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว
 
ตามขั้นตอนหลังจากนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาต้องตรวจสอบความถูกต้องของร่างแก้รัฐธรรมนูญ ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯ เพื่อบังคับใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาคำขอของสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 154 เพราะในวรรค 2 ของมาตราเดียวกัน ระบุว่าระหว่างที่ศาลรับพิจารณาวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการไว้ก่อน เพราะหากศาลวินิจฉัยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายเป็นอันต้องตกไป
 
ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีการแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในมาตรา 154 เป็นบรรทัดฐานแล้วว่าใช้เฉพาะกับกฎหมายทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับร่างแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น คงต้องใช้ดุลพินิจว่าจะส่งคำขอของสมาชิกรัฐสภาครั้งนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าไม่เข้าข่าย ตามมาตรา 154


ข่าวที่เกี่ยวข้อง