วัฒนธรรม "เพอรานากัน" ในสิงคโปร์

Logo Thai PBS
วัฒนธรรม "เพอรานากัน" ในสิงคโปร์

ที่ตั้งบนปลายสุดคาบสมุทร ทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองท่าค้าขายจากอดีตถึงปัจจุบัน วันนี้นอกจากเกาะเล็กๆ จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังรวมความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมผสมผสานที่เรียกว่าเพอรานากัน

ความงดงามของตึกเก่าเพอรานากัน ที่เกิดจากการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกกับจีน เป็นสีสันของย่านวัฒนธรรมบนถนนจูเชียสในสิงคโปร์ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบด้านของเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค 

 
20 กว่าปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลปักหมุดหมายปรับปรุงรักษาย่านเก่า เพื่อคงรูปแบบเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลาย เช่นไชน่าทาวน์ ลิตเติ้ลอินเดีย ดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย หากนี่คือมรดกวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีของชาวสิงคโปร์ 
 
วิถีบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณคาบสมุทรมลายูเมื่อหลายร้อยปีก่อน สะท้อนอยู่ในของเก่านับร้อยที่สะสมไว้ในบ้านเก่า การแต่งงานกับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดลูกผสมระหว่างจีนและมลายู ที่เรียกตัวเองว่าเพอรานากัน ฝ่ายชาย คือ บะบ๋า ส่วนหญิง คือ ยอนย่า มีสูตรอาหารที่ปรับประยุกต์เครื่องปรุงจีนเข้ากับเครื่องเทศจนมีรูปแบบฉพาะ รวมถึงการแต่งกายชุดโสร่งแบบมาเลย์หรือบาจูปันจัง ล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่ลิม กิม จู ในวัย 78 ปี ผู้มีเชื้อสายเพอรานากันภูมิใจในวิถีดั้งเดิมของตน แม้วันนี้การรักษาวัฒนธรรมไว้ในคนรุ่นใหม่จะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก 

    

 
ลิม กิม จู ชาวสิงคโปร์ เชื้อสายเพอรานากัน บอกว่า ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้นที่บ่งบอกถึงความเป็นยอนย่าหรือบาบ๋า แต่สีหน้าท่าทางของชาวพารานากันมีส่วนผสมของหลายชาติ จากการที่บรรพบุรุษจีนแต่งงานกับคนท้องถิ่นนี้ ส่วนคุณสมบัติที่งดงามของยอนย่า วิธีการพูด วิธีการเคารพผู้ใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้และทำให้ชาวพารานากันโดดเด่น 
 
ชาน เอง ไท เหรัญญิกกิตติมศักดิ์ สมาคมเพอรานากัน ประเทศสิงคโปร์ บอกว่า คนรุ่นใหม่ต้องใช้เวลาซึมซับวัฒนธรรมเพอรานากัน เพราะเกิดในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เราจึงพยายามทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมเรางดงามปรับประยุกต์ได้ โดยสมาคมเพอรานากันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานต่อ ถ้าไม่ทำวัฒนธรรมก็จะเป็นเพียงสิ่งที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ และสูญสิ้นไปในที่สุด 
 
สมาคมเพอรานากันในสิงคโปร์ก่อตั้งมาแล้วกว่า 100 ปี เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ยังอยู่ในประเพณี เช่นการแต่งงาน อาหารดั้งเดิม และบทเพลงพื้นเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่ทายาทเพอรานากันพยายามรักษาวิถีอันดีงามของบรรพบุรุษ โดยจัดงานพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างเพอรานากันที่อยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทยปีละครั้ง เพื่อให้วัฒนธรรมเพอรานากันที่มีอยู่มานานแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มั่นคงอยู่ต่อไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง