"สธ." ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ภูมิภาค
30 ก.ย. 56
04:07
44
Logo Thai PBS
"สธ." ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม

มีการคาดการณ์ว่า วันนี้(30 ก.ย.) พายุหวู่ติ๊บ จะขึ้นฝั่งที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ก่อนจะอ่อนกำลังลง และเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.นครพนม ซึ่งจะส่งผลภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนัก ซึ่งต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัย 32 จังหวัด และยังน่าเป็นห่วง 4 จังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เปิดเผยความคืบหน้า สถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีพื้นที่ประสบปัญหาจำนวน 32 จังหวัด ได้รับความเดือดร้อน 233 อำเภอ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์แล้ว 22 คน

โดยมีจังหวัดที่ยังน่าเป็นห่วงและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด คือ จ.ปราจีนบุรี และจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี, จ.สุรินทร์,จ.ศรีสะเกษ ซึ่งยังต้องเฝ้าดู เนื่องจากใน 1-2 วันนี้ จะมีพายุเข้ามา

สำหรับสถานการณ์ในระยะนี้ กรมอุตุนิยม เปิดเผยว่า ยังต้องเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บ ที่คาดว่า จะขึ้นฝั่งที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนามในวันนี้ (30 ก.ย.) จากนั้นจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ จ.นครพนม และคาดว่า จะสลายตัวบริเวณรอยต่อของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งจะทำให้ด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคเหนือด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง โดยจังหวัดที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ จ.หนองคาย จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.เลย จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจะเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงบ่ายวันนี้ (30 ก.ย.)

ส่วนการให้การช่วยเหลือ ด้านการดูแลสุขภาพประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ รวมทั้งให้พื้นที่ระดมกำลังอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ออกเยี่ยมบ้านกลุ่มเปราะบางต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอด ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามดูแลปัญหาสุขภาพป้องกันผู้ป่วยเรื้อรังขาดยา ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ และป้องการเกิดโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู ไข้เลือดออก ตาแดง และอุจจาระร่วง เป็นต้น

ด้านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการโทรศัพท์ประจำที่ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาร่วมกันหารือและกำหนดแนวทางการดำเนินการ ที่ชัดเจน ในการร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ขยายเวลาในการชำระค่าบริการ สำหรับเลขหมายโทรศัพท์ที่จดทะเบียนในจังหวัดพื้นที่น้ำท่วม รวมถึงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่น้ำท่วมที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ ในวันอังคารที่ 1 ต.ค.นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง