ชาวสวนยางขู่กลับมาชุมนุมในอีก 3 เดือน หากรัฐบาลไม่ปรับราคายางพารา

ภูมิภาค
30 ก.ย. 56
05:57
62
Logo Thai PBS
ชาวสวนยางขู่กลับมาชุมนุมในอีก 3 เดือน หากรัฐบาลไม่ปรับราคายางพารา

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่พบปะชาวสวนยาง จ.สงขลา พร้อมระบุว่า นโยบายการทะเบียนเกษตรกรของรัฐบาล ยังไม่ตอบโจทย์ความช่วยเหลือทั้งระบบ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช ยืนยันว่า อีก 3 เดือนหลังจากนี้ หากรัฐบาลยังไม่ปรับราคายางพาราให้ได้กิโลกรัมละ 100 บาท ก็จะกลับมาชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง

ถนนสายเอเชีย บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดสัญจรได้ตามปกติตั้งแต่ค่ำของวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา หลังกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางยอมสลายตัวไป เนื่องจากพอใจบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

โดยผู้ชุมนุม ได้กำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ คือ
1.ให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาภายใน 3 เดือนให้ได้กิโลกรัมละ 100 บาท
2.รัฐบาลต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมทั้ง 2 ครั้งอย่างจริงจัง
3.หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆภายใน 3 เดือน กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันจะออกมาชุมนุมเรียกร้องกันอีกครั้ง

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมชาวสวนยางในพื้นที่ ม.4 ตำบลคลองหลา อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา โดยได้พูดคุยกับชาวสวนยาง พร้อมสอบถามเรื่องของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และความพึงพอใจของชาวสวนยางในเรื่องของราคายางพารา

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการพูดคุย พบว่า ชาวสวนยางเชื่อว่า แนวโน้มของราคายางพารา ยังจะปรับตัวลดลงอีกอาจจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70-72 บาท เมื่อมีการช่วยเหลือจากค่าปัจจัยการผลิตของรัฐบาล ราคาโดยรวมจะอยู่ 82-84 บาทเท่านั้น และแม้จะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วเรื่องของผลประโยชน์ต่าง ๆกับคนกรีดยางก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้การช่วยเหลือจึงยังไม่ตอบโจทย์ในหลายพื้นที่

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาลว่า รัฐบาลรับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะการเอาชาวสวนยางภาคเหนือ และภาคอีสานมาเทียบคงไม่ได้ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเจ้าของสวนเป็นคนที่มีฐานะ แต่ในพื้นที่ภาคใต้ มีทั้งเจ้าของสวน และคนรับจ้างกรีด

ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ ต้องศึกษาเรื่องยางพาราให้ละเอียด เพราะในอนาคตทุกประเทศจะหันมาปลูกยาง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการปลูกในประเทศศรีลังกา ลาว รวมทั้งพม่า เพราะยางมีราคาสูง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง