มรดกชุมชนป้อมมหากาฬ

Logo Thai PBS
มรดกชุมชนป้อมมหากาฬ

ยืดเยื้อมากว่า 20 ปีสำหรับกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยวันนี้ชาวบ้านยังยืนยันจะสู้ด้วยคุณค่าของพื้นที่ ซึ่งเต็มไปด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญาชุมชนที่ตกทอดมา

ความกังวลใจของชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังได้รับหนังสือแจ้งจาก กทม.ขอให้ย้ายออกจากพื้นที่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีผลกับ 66 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่หลังแนวกำแพงเก่ามานาน การไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย เพราะส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้เช่า และมีรายได้ไม่มาก ส่งผลกับชาวบ้านที่ต้องเดือดร้อนหาที่อยู่ใหม่ หากยังเทียบไม่ได้กับการล่มสลายของชุมชนประวัติศาสตร์คู่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ที่อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุ ทั้งสืบทอดภูมิปัญญาชุมชน เช่น งานเครื่องปั้นดินเผา และงานกรงนกเขาที่ขึ้นรูปด้วยมือทุกขั้นตอน ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในเกาะกรุง 
 
กว่า 70 ปี ที่ตระกูลนิลใบ สืบต่อการทำกรงนกเขาชวาฝีมือช่างปัตตานี หลังย้ายมาตั้งรกรากในชุมชนป้อมมหากาฬ ทายาทรุ่นที่ 3 หวังเพียงได้สืบทอดภูมิปัญญานี้ต่อไปในพื้นที่เดิม ที่ผ่านมา จึงร่วมมือกับชุมชนจัดการพื้นที่รวมกว่า 3 ไร่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต เพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ หวังให้มีผลกับการทบทวนแนวคิดปรับภูมิทัศน์ของ กทม. 
 
นับจากวันที่ชุมชนป้อมมหากาฬถูกบังคับตามกฎหมายให้ย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ครั้งแรกนั้นเป็นเวลา 21 ปีมาแล้ว แต่เป็น 21 ปีที่ชาวบ้านต่อสู้ด้วยกระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อพิสูจน์คุณค่าของพื้นที่ หนึ่งในวิธีการนั้นคือการอนุรักษ์บ้านเก่าร่วมสมัยอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี ที่มีอยู่ 5 หลังในชุมชน ซึ่งหากย้ายชุมชนออกไป ก็หมายความว่าคุณค่าจากประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาก็อาจจะถูกลบไปด้วย
 
ชุมชนป้อมมหากาฬ ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนชานพระนคร มีความเป็นมาคู่กับเมืองหลวง ในอดีตกำแพงชั้นในเป็นที่ตั้งของวัด และวังโอบล้อมด้วยชุมชน ที่ทุกวันนี้เติบโตเป็นย่านวัฒนธรรม และแหล่งศิลปะสำคัญ กรณีไล่รื้อชุมชนผ่านอำนาจตามกฎหมาย อาจทำให้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ในที่สุด หากพวกเขาก็ยังหวังว่าศูนย์เรียนรู้ด้านภูมิปัญญาและจัดการสิ่งแวดล้อมที่พยายามสร้างมาตลอด 10 กว่าปีจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของพื้นที่ร่วมกัน 
 
ชุมชนป้อมมหากาฬ เผชิญสถานการณ์เวนคืนไล่รื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2535 โดยพื้นที่ด้านหลังป้อมส่วนหนึ่งคืนกับ กทม.สร้างเป็นสวนสาธารณะไปแล้ว หากการจัดสรรที่อยู่ใหม่สำหรับชาวบ้านที่เหลืออยู่ยังไม่เคยมีความชัดเจน จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานาน เป็นหนึ่งในหลายชุมชนเก่าในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการผังเมือง โดยคำนึงถึงมูลค่าที่ดินมากกว่าการรักษาคุณค่าวัฒนธรรมชุมชน หากชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าจะอยู่เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนตัวอย่างคู่สวนสาธารณะ พิสูจน์คุณค่าของชีวิตหลังกำแพงพระนครที่ถูกมองข้าม และถามหาความเป็นธรรมในการจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง