วาดภาพสด 40 ปี 14 ตุลา

Logo Thai PBS
วาดภาพสด 40 ปี 14 ตุลา

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516 ไม่ใช่แค่สร้างความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยเท่านั้นนะคะ แต่ยังก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์เพื่อสังคมหลายแขนง ศิลปินหลายคนเปลี่ยนตัวเองจากที่เคยทำงานศิลปะเพื่อชื่อเสียงเงินทอง มาสะท้อนภาพความจริงนับแต่นั้น ส่วนหนึ่งมาฝากฝีมือไว้ในเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ในโอกาศครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา

แท่งสี่เหลี่ยมหลากสี แทนความคิดหลายด้านในสังคมไทย เรียงตัวอย่างสะเปะสะปะเป็นภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์นัก ผลงานของไมตรี หอมทอง ที่ต้องการสะท้อนความคิดของผู้คนในบ้านเมือง ที่เริ่มมีความหลากหลายเพราะสังคมเปิดกว้างขึ้น แต่ยังคาดหวังให้เกิดการรับฟังที่จะนำไปสู่การพัฒนา มากกว่าสร้างความขัดแย้ง ขณะที่ผลงานภาพวาดประกอบการแสดง ของสุรพล ปัญญาวชิระ เสียดสีผลกระทบจากการทุจริตจำนำข้าว ที่ผลผลิตจากหยาดเหงื่อกลับมาทำร้ายเกษตรกร แสดงเป็นสีสันเปิดเทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ครั้งที่ 6 ที่ เปิดให้ 4 ศิลปินผู้มีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นแรงผลักดันให้ทำงานศิลปเพื่อสังคม ถ่ายทอดมุมมองทางการเมืองในวาระครบ 40 ปีการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประชาชนเริ่มตื่นตัวทางความคิด ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์เพื่อสังคมหลายรูปแบบ ที่มักถูกนิยามด้วยคำว่า "เพื่อชีวิต" ทั้งด้านวรรณกรรม ละคร ดนตรี งานศิลปะก็เช่นเดียวกัน 14 ตุลา ทำให้ พิทักษ์ ปิยะพงษ์ เห็นคุณค่าของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้โดยไร้ความเห็นแก่ตัวเพราะถูกกระทบจากระบอบเผด็จการไม่ต่างกัน จากที่เคยสร้างผลงานเพื่อชื่อเสียเงินทอง มาวันนี้ 40 ปีแล้วที่ศิลปะของเค้าทำหน้าที่รับใช้สังคม เป็นอีกหนทางแสดงออก และจุดประกายความคิด

ไม่ว่ายุคไหน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย กระทบโดยตรงกับประชาชน บ้างรู้อึดอัด บ้างกรีดร้อง บ้างเฉยฉา แต่ละความรู้สึกของผู้คนถ่ายทอดเป็นภาพใบหน้า ในผลงานของพิทักษ์ ปิยะพงษ์ ที่ปาดฝีแปรงด้วยอารมณ์จากภายใน ตลอด 4 วัน 4 ศิลปินทุ่มเทเขียนภาพสดในสถานที่จัดแสดง ไม่เพียงเปลี่ยนกระบวณการทำงาน แต่ยังตั้งใจสร้างศิลปะที่ไม่ต้องแขวนไว้แต่ในแกลเลอรี่เท่านั้น เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ยังรวมรวมศิลปะอีกหลายแขนงทั้งภาพยนตร์ ดนตรี กวี ละคร ซึ่งสร้างสรรค์ให้สอดรับกับโอกาสที่ 14 ตุลา เวียนมาครบ 40 ปี จัดแสดงถึงวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง