ความนิยมกีตาร์กับผลกระทบต่อป่าไม้

Logo Thai PBS
ความนิยมกีตาร์กับผลกระทบต่อป่าไม้

กระแสดนตรีโฟล์คที่กลับมาอีกครั้ง กลายเป็นตัวกระตุ้นยอดขายกีตาร์อะคูสติกอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่คาดคิดคือ ผลกระทบเรื่องการตัดไม้เพื่อผลิตเครื่องดนตรี ที่อาจทำให้ไม้ท้องถิ่นบางชนิดหมดไปจากป่าในอีกไม่กี่สิบปีนี้

ความสำเร็จของ Mumford & Sons เจ้าของรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์สาขาอัลบั้มแห่งปี มีปัจจัยสำคัญจากการใช้เสียงอะคูสติกกีตาร์ดึงดูดผู้ฟังด้วยสำเนียงอันเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีศิลปินมากมายทั้ง เอ็ด ชีแรน จนถึง ลอร่า มาร์ลิง ที่หันมาสร้างสรรค์ดนตรีด้วยกีตาร์โปร่ง ก็ยิ่งส่งผลต่อยอดขายกีตาร์ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดดนตรีทั่วโลก 
 
คริส มาร์ติน เจ้าของ Martin & Co บริษัทผลิตกีตาร์ชั้นนำของสหรัฐฯ ยอมรับว่าการกลับมาเป็นที่สนใจของดนตรีโฟล์ค และโอกาสในการแสดงฝีมือทางดนตรีผ่านสื่อออนไลน์อย่างยูทูป ช่วยกระตุ้นยอดขายกีตาร์ และอูคูเลเล่อย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งในอเมริกา, ยุโรป จนถึงชาติในเอเชียอย่างเกาหลี และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเมืองไทยที่บริษัทต้องส่งกีตาร์มาขาย 200-300 ตัวเกือบทุกเดือน ซึ่งยอดจำหน่ายกีตาร์วันนี้แซงหน้ายุค 70 ที่ดนตรีโฟล์คเริ่มโด่งดัง หรือยุค 90 ที่รายการ MTV Unplugged เป็นที่นิยมเสียอีก 
 
แต่สิ่งที่ทายาทรุ่นที่ 6 ของ Martin & Co กังวลต่อยอดขายกีตาร์ที่เพิ่มขึ้นคือ การต้องตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น จนไม่เหลือไม้ดีๆ สำหรับการผลิตเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพอีกในอนาคต โดยเฉพาะไม้ Sitka spruce จากต้น Picea sitchensis ที่นิยมมาทำเป็นไม้หน้าของกีตาร์ที่ช่วยให้เสียงมีคุณภาพ 
 
ขณะเดียวกัน Greenpeace ได้เผยข้อมูลว่าต้นไม้ท้องถิ่นที่พบได้ในเมือง Sitka รัฐอลาสก้าของสหรัฐฯ น้อยลงไปทุกที เพราะถูกนำไปแปรรูปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ส่งออกไปสร้างบ้านในแถบเอเชีย จนถึงการทำกรอบประตูหน้าต่างในสหรัฐฯ จนปัจจุบันราคาของไม้ Sitka spruce ที่นำมาผลิตกีตาร์มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 34 ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คริส มาร์ติน ยอมรับว่าถ้าอัตราการตัดไม้ Sitka spruce ยังไม่ลดลง ธุรกิจการผลิตกีตาร์ที่เขาสืบสานมากว่าถึง 180 ปี อาจต้องยุติลงในรุ่นลูกของเขา 
 
ล่าสุดทาง คริส มาร์ติน ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตกีตาร์ชั้นนำของโลกทั้ง เทเลอร์ และ กิ๊บสัน ในการกดดันให้บริษัทแปรรูปไม้ Sitka spruce ในอลาสก้า ซึ่งเป็นธุรกิจของชนอเมริกันพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ร่วมเซ็นสัญญาความร่วมมือกับคณะกรรมการรับรองมาตรฐานการปลูกป่า เพื่อควบคุมอัตราการแปรรูปป่าไม้ในพื้นที่ แต่ตัวแทนธุรกิจยังไม่ยินยอม โดยอ้างว่าธุรกิจแปรรูปไม้ป่าซึ่งสืบทอดเป็นวิถีของชุมชน มีการใช้ไม้ไปเพียงร้อยละ 1 ของผืนป่าทั้งหมด โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างผลิตสารคดี เพื่อสนับสนุนเหตุผลของตนออกสู่สารธารณชน จนทำให้ประเด็นเรื่องอนาคตของป่าฝนในอลาสก้า ซึ่งไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปได้รับการจับตาอย่างไม่เคยมีมาก่อน 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง