อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำท่วมสูง

ภูมิภาค
10 ต.ค. 56
14:55
710
Logo Thai PBS
อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำท่วมสูง

จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สถานการณ์น้ำท่วมยังน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ถึงขั้นวิกฤติต้องเพิ่มข้าวกล่องกว่า 1 เท่าตัว เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถฝ่าระดับน้ำที่ท่วมสูงออกมาหาซื้ออาหารได้ ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำในพื้นที่ติดกับแม่น้ำนครนายก โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีระดับน้ำสูง จนชาวบ้านที่อยู่ด้านในเขตชลประทานเกรงว่าคันดินที่สร้างไว้จะไม่สามารถรับแรงดันน้ำที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นเกษตรหลายพันไร่เสียหายทั้งหมด

เจ้าหน้าที่ขึ้นบินสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปลายคลอง 19 ต.โยธะกา ริมแม่น้ำนครนายก พบว่าพื้นที่ด้านนอกเขตชลประทาน มีระดับน้ำสูงกว่าน้ำด้านในประมาณ 1 เมตร 50 เซนติเมตร ชาวบ้านนำกระสอบทราย และดินทำเป็นคันกั้นน้ำตลอดแนวประมาณ 4 กิโลเมตร และต่างวิตกว่าหากคันดินดังกล่าวพัง จะทำให้น้ำเข้าด้านในเขตชลประทาน ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรทั้งนาข้าว บ่อกุ้ง และบ่อปลาจำนวนมากเสียหาย รวมทั้งบ้านใน ต.บางขนาก ต.โยธะกา ซึ่งถูกน้ำท่วมอยู่แล้วกว่า 1 เมตร มีระดับน้ำสูงขึ้นอีก
 
ส่วนที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ระดับน้ำท่วมในหลายตำบลยังวิกฤติ โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 1 เมตร มีผู้เดือดร้อนถึง 2,500 ครัวเรือน ขณะที่นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีต้องสั่งทำข้าวกล่องเพิ่มเป็น 5,000 กล่องจากเดิม 2,500 กล่อง เพื่อให้เพียงพอกับประชาชนที่เดือดร้อน เนื่องจากออกมาหาซื้ออาหารด้วยความยากลำบาก
 
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีเพียงพื้นที่บริเวณเฟส 7 ยังมีน้ำท่วมขังประมาณ 20 เซนติเมตร โรงงาน 2 แห่งยังปิด เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณทางเข้าออกโรงงาน ส่วนเฟส 8 และเฟส 9 ระดับน้ำลดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดย จ.ชลบุรี ขณะนี้มีน้ำท่วมใน 5 อำเภอ คือ เมืองชลบุรี พานทอง พนัสนิคม เกาะจันทร์ และ อ.บ่อทอง
 
ส่วนที่ จ.ระยอง สถานการณ์น้ำท่วมในหมู่บ้านจัดสรรกว่า 800 หลังในพื้นที่เทศบาลเมืองระยอง ระดับน้ำยังทรงตัวบางแห่งลดลงแล้ว นายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า หากฝนหยุดตก และพ้นช่วงน้ำทะเลหนุน คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 2-3 วัน
 
ในส่วนของอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่งของ จ.ระยอง ล่าสุด เต็มความจุหมดแล้ว ทำให้บางแห่งล้นสปริงเวย์ และไหลลงมาตามลำคลองต่างๆ ทำให้บ้านที่อยู่ตามริมคลอง หรือทางระบายน้ำถูกน้ำท่วมสูง
 
ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นในเขต จ.นนทบุรี ทำให้เทศบาลเมืองบางบัวทองเร่งนำแผ่นปูนคอนกรีตไปเสริมรอบๆ ริมคลองตลาดบางบัวทองสูงเกือบ 2 เมตร เพื่อป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลทะลักเข้าท่วมตัวตลาด เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อปี 2554 หลังพบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกทั้งจากน้ำเหนือที่ไหลมาสมทบ และปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง