เจ้าแม่เรื่องสั้น "อลิซ มอนโร" คว้าโนเบลวรรณกรรม

Logo Thai PBS
เจ้าแม่เรื่องสั้น "อลิซ มอนโร" คว้าโนเบลวรรณกรรม

เทคนิคการเขียนที่เฉียบคม และใช้เรื่องราวในชีวิตประจำวันถ่ายทอดปัญหาของผู้คนได้อย่างยอดเยี่ยม คือคุณสมบัติที่ทำให้ อลิซ มอนโร นักเขียนเรื่องสั้นชาวแคนาดา กลายเป็นผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ได้สำเร็จ

เมื่อภรรยาคู่ชีวิตที่แทบไม่เคยแยกจากกัน ต้องมาอยู่ที่สถานพยาบาลผู้สูงอายุจากการอาการอัลไซเมอร์ จึงเป็นหน้าที่ของสามีในการรือฟื้นความทรงจำของคนรัก ขณะที่เธอกำลังสานสัมพันธ์กับผู้ป่วยในสถานบำบัด และเริ่มสับสนว่าคนรักที่แท้จริงของเธอคือใคร คือเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ใน Away From Her ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ อลิซ มอนโร นักเขียนเรื่องสั้นวัย 82 ปี ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำการประพันธ์วรรณกรรมขนาดสั้นร่วมสมัย ซึ่งวันนี้เธอได้รับเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ ถือเป็นนักเขียนชาวแคนาดาคนที่ 2 และนักประพันธ์สตรีคนที่ 13 ที่คว้ารางวัลใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมที่จัดมาตั้งแต่ปี 1901
 
อลิซ มอนโร หันเข้าสู่โลกของวรรณกรรมตั้งแต่วัยเยาว์ โดยใช้การอ่านเป็นการหลีกหนีปัญหาทางบ้านหลังผู้เป็นแม่ป่วยด้วยอาการพาร์กินสัน เธอต้องทำงานในไร่ยาสูบ และขายเลือดของตนตัวเองเพื่อหาเงินส่งตนเองศึกษาด้านวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย งานเขียนของเธอจะเล่าถึงการต่อสู้, ความรัก, และโศกนาฏกรรม ผ่านมุมมองของตัวละครผู้หญิง จนเธอถูกยกชั้นไปเทียบกับ แอนทอน เชคอฟ นักเขียนเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 19 โดย ปีเตอร์ อิงลุนด์ เลขาธิการของโนเบล กล่าวว่า ความสมบูรณ์แบบของมอนโรอยู่ที่การใช้ประโยคกระชับ และเฉียบคม และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกผ่านตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง
 
แม้จะถูกยกให้เป็นหนึ่งในตัวเต็งของปีนี้ แต่หลายปีมานี้โนเบลมักมอบรางวัลให้กับนักเขียนที่มีผลงานอิงการเมืองเป็นหลัก ชัยชนะของเธอจึงสร้างความยินดีต่อผู้สนับสนุนของเธออย่างมาก โดยในเทศกาลหนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ตมีการเปิดแชมเปญฉลองให้กับชัยชนะของเธออีกด้วย
 
อลิซ มอนโร เคยคว้ารางวัลทางวรรณกรรมมาแล้วมากมาย รวมถึง booker prize เมื่อปี 2009 แต่การคว้ารางวัลใหญ่อย่างโนเบลก็ไม่เปลี่ยนการตัดสินใจการอำลาวงการน้ำหมึกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ และเหตุผลที่เธอยอมรับว่าการเป็นนักเขียนจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง ซึ่งเธอไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นนั้นอีกในวัยขนาดนี้ แต่เธอเห็นว่าการคว้ารางวัลจะช่วยให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสั้นมากขึ้น เพราะสำหรับเธอแล้วเรื่องสั้นไม่ใช่งานคั่นเวลาของนักเขียนระหว่างว่างจากการแต่งนิยายขนาดยาว แต่เป็นงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะในตัวเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง