"ศ.ธีรยุทธ" ปาฐกถา อย่ามอง "นปช.-พธม.-ทักษิณ" เป็นวิกฤตการเมืองไทย

การเมือง
14 ต.ค. 56
08:22
85
Logo Thai PBS
"ศ.ธีรยุทธ" ปาฐกถา อย่ามอง "นปช.-พธม.-ทักษิณ" เป็นวิกฤตการเมืองไทย

ศ.ธีรยุทธ บุญมี ปาฐกถา "ปณิธานประเทศไทย" รำลึก 40 ปี 14 ตุลา ชี้ อย่ามอง "นปช.-พธม.-ทักษิณ" เป็นวิกฤตการเมืองไทย แต่องค์กรการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม กระตุ้นปชช.รู้สิทธิ์แสดงออก-ต่อต้านของตนเอง

วันนี้ (14 ต.ค.) ศ.ธีรยุทธ บุญมี ในฐานะอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ปณิธานประเทศไทย" ในกิจกรรมรำลึกครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2556 โดยระบุว่า ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย และต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด ด้วยการที่รัฐไทยต้องกระจายอำนาจที่แท้จริงให้ประชาชน

 
ขณะที่ ปัญหาการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ปัญหาของความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นความผิดพลาดของการตรวจสอบ และธรรมาภิบาล ซึ่งองค์กรอิสระทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ยังไม่มีบทบาท หรือยังไม่ทำงานอย่างจริงจังเท่าที่ควร ในการกระตุ้นให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิในการต่อต้าน หรือแสดงความคิดเห็น ดังนั้นจะกล่าวโทษประชาชนไม่ได้ หากประชาชนจะเอนเอียง หรือเชื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    

 
ทั้งนี้ ต้องไม่มองว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นวิกฤตของประเทศชาติ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยในอนาคต ซึ่ง แกนนำนปช. ต้องเรียกร้องการกระจายอำนาจให้มาอยู่ในมือของชาวบ้าน รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของรัฐบาลว่า มีข้อดี หรือ ข้อเสียอย่างไร เช่นเดียวกับ พธม. ที่ระบุว่า ตัวเอง คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ก็ควรผลักดันความคิด และต้องกล้ายอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
 
ส่วนความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการวางแนวทางปรองดอง มองว่า ไม่ได้แก้ปัญหาที่ถูกฝังลึกได้จริง ซึ่ง ศ.ธีรยุทธ หวังว่า ทุกกลุ่ม และทุกภาคส่วน จะมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง และเรียกร้องสิทธิ์ให้ถูกต้อง โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ มากกว่าการใช้รัฐประหาร เพราะการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 19 ก.ย. 49 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเมืองในประเทศ และ 40 ปีที่ผ่านมา (14 ต.ค.16)  ยังเป็น 40 ปี ที่น่าเสียดาย เพราะหากช่วงที่ผ่านมากลุ่มผู้มีฐานะ, มีอำนาจ, กลุ่มทุน สามารถสร้างฐานเดียวกันให้กับบ้านเมืองได้ ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป และเกิดการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้ามากกว่า

    

 
ศ.ธีรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจาการมองปัญหาที่ผิดพลาด และใช้กลไกแก้ปัญหาผิด โดยเฉพาะกลไกการรวมศูนย์ ซึ่งส่งผลให้ประเทศ และประชาชนถูกจำกัด ดังนั้น เห็นว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และทัศนคติ โดยให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาประเทศ รวมถึงการให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันให้มาก เพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง