"สธ.-สปส."ชี้แจง รพ.เอกชนปฏิเสธทำคลอด เป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิต

สังคม
14 ต.ค. 56
14:47
380
Logo Thai PBS
"สธ.-สปส."ชี้แจง รพ.เอกชนปฏิเสธทำคลอด เป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิต

กระแสข่าวโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธทำคลอดให้ผู้ประกันตนหญิง จนเป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิต ซึ่งถูกโพสต์บนเฟซบุ๊ก จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงจริยธรรมทางการแพทย์และระบบการจ่ายค่าทำคลอดของสำนักงานประกันสังคม ทางทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊ก และโรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธทำคลอด

ข้อความที่ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อเย็นวานนี้ (13 ต.ค) โดยอ้างว่า โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการทำคลอดให้หญิงตั้งครรภ์ ที่ยื่นใช้สิทธิประกันสังคม เพราะไม่มีเงินสำรองจ่ายค่าทำคลอด 18,000 บาท เป็นเหตุให้ต้องทำคลอดด้วยตัวเองที่ห้องพักจนเด็กเสียชีวิต

                 
<"">

 
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย โดยต่างแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมถามถึงจรรยาบรรณของโรงพยาบาลเอกชนในกรณีดังกล่าว หลังเกิดเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ไม่นาน

ขณะที่ผู้ซึ่งใช้ชื่อว่า "สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู" โพสต์ ข้อความในลักษณะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบุเป็นข้อเท็จจริงจากฝั่งของโรงพยาบาล โดยชี้แจงว่า ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอด และตรวจพบว่าตั้งครรภ์มากกว่า 5 เดือน ซึ่งผู้ป่วยไม่รู้ตัว และไม่เคยฝากครรภ์ ทั้งที่ตั้งท้องลูกคนที่ 4 เจ้าหน้าที่จึงแจ้งแก่ผู้ป่วยถึงสิทธิการใช้บริการ และค่าใช้จ่าย แต่ผู้ป่วยและญาติ ไม่มีเงินมากพอ และบอกว่า จะไปคลอดที่โรงพยาบาลราชวิถีเพราะคลอดมาแล้ว 2 คน

กรณีการคลอดบุตร ผู้ประกันตนสามารถคลอดที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยประกันสังคมจะเหมาจ่ายให้ 13,000 บาท แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถูกตั้งคำถามถึงระบบสำรองจ่ายค่าทำคลอดว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะว่าผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเบิกในภายหลัง ซึ่ง นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่า โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ปฏิเสธผู้ป่วย แต่เป็นการตัดสินใจเองของผู้ป่วยรายนี้

ขณะนี้ผู้ป่วยหญิงรายนี้ รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสังคม และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า อาการปลอดภัยแล้ว ขณะที่โรงพยาบาลราชวิถีแถลงยืนยันไม่ได้ปฏิเสธคนไข้รายนี้ แต่ข้อเท็จจริงคือได้นำศพทารกมาขอชันสูตรศพ แต่เนื่องจากไม่มีแพทย์นิติเวช จึงแนะนำให้ไปชันสูตรศพที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

 
ส่วนกรณีนี้จะเข้าข่ายนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงเเก่ชีวิต ไม่ต้องถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น" ของรัฐบาลหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่า อาการเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่
 
ล่าสุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวอีกครั้งว่า กรณีนี้เป็นกรณีเร่งด่วนวิกฤติฉุกเฉินหรือไม่ โรงพยาบาลให้คำแนะนำ ดำเนินการส่งต่อ เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง