"เสริมสุข" วิเคราะห์แนวทางคำตัดสินศาลโลกในคดีประสาทพระวิหาร

สังคม
17 ต.ค. 56
06:08
131
Logo Thai PBS
"เสริมสุข" วิเคราะห์แนวทางคำตัดสินศาลโลกในคดีประสาทพระวิหาร

บรรณาธิการอาวุโส ไทยพีบีเอส วิเคราะห์แนวทางคำตัดสินศาลโลกในคดีประสาทพระวิหาร หลังจากศาลโลกกำหนดเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีคำร้องของกัมพูชาที่เสนอให้ตีความคำตัดสินศาลในคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 มาเป็นเดือนหน้านี้

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโส ไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลโลกกำหนดเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีคำร้องของกัมพูชาที่เสนอให้ตีความคำตัดสินศาลในคดีประสาทประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 มาเป็นเดือนหน้านั้นว่า มีการคาดการณ์ของฝ่ายไทยอยู่แล้วว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี ซึ่งการที่รัฐมนตรีมาให้สัมภาษณ์เมื่อ 2-3 วันก่อน จึงทำให้มีความรู้สึกว่าเลื่อนขึ้นมาจากต้นปีหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เลื่อน และเมื่อตอนที่มีการให้ปากคำช่วงเดือนเมษายน 2556 ซึ่งได้คาดการณ์ว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาช่วงปลายปี 
 
นายเสริมสุข กล่าวอีกว่า หัวใจของเรื่องนี้ที่คนไทยต้องเข้าใจในคดี คือคำว่า vicinity พื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาท ซึ่งในคำตัดสินศาล บอกว่าต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ตรงนี้ แต่ศาลไม่ได้บอกว่าพื้นที่นี้อยู่ตรงไหน จึงนำมาสู่การที่กัมพูชาร้องให้ศาลพิจารณาใหม่ว่า vicinity อยู่ตรงไหน ดังที่นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศว่า ซึ่งได้พูดถึง 4 แนวทาง โดย 2 แนวทางเสียดินแดนแน่นอน อีก 2 แนวทางไม่เสียดินแดน แนวทางที่ไม่เสียดินแดนคือแนวทางที่ 1 กับแนวทางที่ 3 ส่วนเสียดินแดนคือแนวทางที่ 2 กับแนวทางที่ 4 ภาพที่เห็นในจอจะเป็นพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งฝ่ายกัมพูชามองว่าเส้นสีแสด หรือสีส้ม เป็นเส้นเขตแดน ขณะที่ไทยมองว่าเส้นสีน้ำเงินเป็นเส้นเขตแดน ซึ่งมีพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรอยู่ตรงกลาง สำหรับแนวทางที่ 2 ตัดสินตามคำร้องของกัมพูชา ถ้าตัดสินตามคำร้องของกัมพูชา ซึ่งถือเส้นสีแสด สีส้ม เป็นแนวเขตแดน ก็จะเสีย 4.6 ตารางกิโลเมตร 
 
ขณะที่แนวทางที่ 1 ซึ่งนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ บอกว่าศาลอาจจะไม่รับคำร้องในการตีความ หรือเห็นว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ซึ่งประเด็นนี้นายเสริมสุขมองว่า ศาลคงไม่ออกอย่างนั้น ซึ่งคดีนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 และมีการไต่สวน 2 ฝ่าย เดือนกรกฎาคม 2554 มีการออกมาตรการชั่วคราว แสดงว่าศาลเห็นแล้วว่าเขามีอำนาจ โดยเป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายไทยได้ต่อสู้ โดยไทยจะบอกในการสู้คดีในเดือนเมษายน 2556 ว่าศาลไม่มีอำนาจ เพราะว่าคำร้องยื่นหลังเกิดเหตุไปตั้ง 50 ปี แต่ว่าในธรรมนูญศาล มาตรา 60 ไม่ได้มีช่วงเวลาตรงนั้น หมายความว่าสามารถเสนอเมื่อไหร่ก็ได้ แนวทางที่ 1 จึงมองว่าไม่น่าที่จะเกิดขึ้น 
 
ส่วนแนวทางที่ 2 โอกาสก็ไม่น่าจะไปในทิศทางนั้น ถ้าออกอย่างนั้น เสียหายกับประเทศไทยมาก แต่ว่าถ้าดูแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลการศึกษาค้นคว้าของสถาบัน IBRU ที่เป็นเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ ก็มีการชี้ว่าแนวเขตแดนที่กัมพูชายกนั้นไม่มีความแน่นอน และถ้าตัดสินตามนี้ จะยิ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างไทย และกัมพูชามากขึ้น ขณะที่แนวทางที่ 3 ซึ่งหลังเหตุการณ์ปี 2505 ทางไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนั้นตัดสินโดยไม่บอกเลยว่าพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาทที่ไทยต้องถอนออกคือเท่าไหร่ คณะรัฐมนตรีเลยมีมติตามแผนที่ โดยมีการกำหนดพื้นที่รอบปราสาท 100 เมตร จากทิศตะวันตกของตัวปราสาท และทางเหนือ 20 เมตร ส่วนบริเวณด้านขวามือ หรือตกจะเป็นเขตแดนของกัมพูชา ซึ่งเส้นดังกล่าวเป็นเส้นที่ฝ่ายไทยเชื่อว่าคือศาลไม่ได้กำหนดพื้นที่ใกล้เคียง ไทยจึงกำหนดพื้นที่นี้ขึ้นมา ถ้าศาลเห็นตามแนวทางที่ 3 คือเห็นว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกอย่าง รวมถึงการกำหนดพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาท หากออกแนวทางที่ 3 ไทยไม่เสียหายอะไรเพิ่มเติม 
 
นายเสริมสุข กล่าวอีกว่า แนวทางที่ 4 น่าจะเป็นความเป็นไปได้มาก ซึ่งศาลจะกำหนดพื้นที่ขึ้นมาเอง เพื่อที่จะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาทที่น่าจะไม่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งแผนตามมติ ครม. และแผนที่ที่มีกำหนดเส้นเขตแดน ซึ่งเป็นแนวเขตแดนของกัมพูชาที่เชื่อว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา เมื่อเอา 2 แผนที่มาทับกัน แผนที่ตามมติ ครม. ซึ่งไทยกำหนดไป จะน้อยกว่าพื้นที่ที่กัมพูชาเชื่อว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา 0.07 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งได้มีการต่อสู้กัน ไทยนำแผนที่บิ๊กแมพมาแสดงให้ศาลดูบอกว่าเมื่อปี 2505 กัมพูชาไม่ได้พูดเรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตรเลย สิ่งที่กัมพูชาพูดคือบอกว่าเขาเชื่อว่าแผนที่ที่เป็นสีส้ม คือเส้นมติ ครม. และเหลื่อมทับด้วยพื้นที่สีเขียวทับกัน คือพื้นที่ที่กัมพูชาเชื่อว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา เมื่อเหลื่อมโดยที่ไทยให้น้อยไป 43 ไร่ ซึ่งศาลอาจจะกำหนดเป็นพื้นที่ใกล้เคียงรอบตัวปราสาท เพราะว่าเมื่อปี 2505 เขากำหนดมาบริเวณประมาณนี้ แต่ฝ่าย ครม.ไทยให้ไปน้อยกว่าเดิม ซึ่งอาจมีทางเลือกอื่น อาจจะกำหนดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามความคิดขององค์คณะผู้พิพากษาว่าพื้นที่ตรงนี้น่าจะมีพื้นที่ขนาดไหน อาจจะอยู่ทางตะวันออกของเส้นมติ ครม.ก็ได้ ถ้าออกแนวทางที่ 4 ก็เสียดินแดนแน่นอน ต้องเสียพื้นที่เพิ่มให้กับกัมพูชาไปทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล การตัดสินในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง