"รัฐสภา" นัด "2 พ.ย." ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 วาระ 3

การเมือง
17 ต.ค. 56
14:40
204
Logo Thai PBS
"รัฐสภา" นัด "2 พ.ย." ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 วาระ 3

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 190 นั้น ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบในวาระที่ 2 แล้วเมื่อกลางดึกวานนี้ (16 ต.ค.) โดยประธานรัฐสภานัดหมายประชุมลงมติวาระที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน และคาดการณ์ว่า หลังจากนั้นจะเรียกประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 68 และ 237 เพื่อให้แล้วเสร็จก่อนปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 29 พ.ย.นี้

วันเสาร์ที่ 2 พ.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภานัดหมายประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติวาระที่ 3 หรือเห็นชอบให้มีผลบังคับใช้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หลังจากกลางดึกวานนี้รัฐสภาลงมติวาระที่ 2 หรือพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายแล้วเสร็จตามที่คณะกรรมาธิการพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม

สำหรับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีด้วยกัน 4 มาตรา โดยมาตรา 1 ว่าด้วยชื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 345 ต่อ 133 เห็นชอบตรงกัน แม้ช่วงแรกของการอภิปรายจะถูกทักท้วงว่า การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้มีนัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีขอการแก้ไขเพื่อลดอำนาจของประชาชนและฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม

ขณะที่มาตรา 2 ว่าด้วยการบังคับใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น สามารถลงมติเห็นชอบได้โดยเร็ว เนื่องจากไม่มีผู้อภิปรายพิจารณารายละเอียด ด้วยคะแนน 341 ต่อ 132 เสียง

แต่มาตรา 3 ว่าด้วยการยกเลิกความในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และใช้เนื้อความใหม่ โดยสาระสำคัญของข้อบัญญัติที่เข้ามาแทนที่เดิม ได้กำหนดกรอบของหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นจชอบจากรัฐสภาก่อน ไว้ 3 กรอบด้วยกัน คือ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลียนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศโดยชัดแจ้ง หรือหนังสือสัญญานั้นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุน หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครอง หรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมิใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

มีการลงมติเห็นชอบในมาตรานี้ถึง 5 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากแต่ละกรอบนั้นต้องกำหนดเป็นวรรคในร่างแก้รัฐธรรมนูญ และแต่ละรอบนับว่าสมาชิกรัฐสภามากกว่า 300 คนลงมติเห็นควรตามรายละเอียดทั้งหมดที่ถูกนำเสนอ แม้ระหว่างการอภิปรายจะเกิดเหตุประท้วงถกเถียงระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย โดยเฉพาะกรณีการเปิดคลิปภาพสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงธุรกิจด้านพลังงาน และอ้างอิงถึงบุคคลในรัฐบาลหรือบุคคลใกล้ชิดรัฐบาล อาจใช้ช่องว่างของกฎหมายแสวงหาประโยชน์ ก็ไม่เป็นผลให้เปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายที่แก้ไขได้

สำหรับมาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ขณะที่วรรค 2 ในมาตรานี้ บัญญัติให้ ครม.มีการรับฟังเสียงของประชาชนในการทำหนังสือสัญญา ก่อนที่จะมีการออกพระราชบัญญัติประกอบ แต่ที่ประชุมกลับลงมติ 62 ต่อ 335 ไม่เห็นชอบตามเสนอ จึงต้องกลับไปใช้บทบัญญัติเดิม คือ หากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ครม.ต้องดาเนินการแก้ไขหรือเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง