รถติดกระทบความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
19 ต.ค. 56
14:16
1,101
Logo Thai PBS
รถติดกระทบความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท

ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ตำรวจนครบาลเตรียมบังคับใช้มาตรการยกรถยนต์ที่จอดกีดขวางถนน ส่งผลต่อปัญหาจราจรให้ติดขัดอย่างหนัก โดยจะประเดิมนำร่องในถนน 10 เส้นทาง ทั้งนี้ปัญหาจราจรและการไร้วินัยของผู้ขับขี่ ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท

ถนน 10 เส้นสายหลักที่ตำรวจนครบาล เตรียมใช้มาตรการคลื่อนย้ายรถยนต์ แทนการล็อกล้อ ได้แก่ ถนนลาดพร้าว, ถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนรามคำแหง เป็นต้น ซึ่งเป็นถนนที่เผชิญกับปัญหารถติดอย่างหนัก

จากการสำรวจอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ส่วนบุคคล ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปีที่ 2555 บริเวณถนนสีลม ผู้ขับรถใช้ความเร็วได้ต่ำที่สุดประมาณ 7.43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัญหารถติดสามารถคำนวณความเสียหายเป็นตัวเลขได้ 4 ส่วน ทั้งความสูญเสียเรื่องเวลา พลังงานเชื้อเพลิง รถติดจากอุบัติเหตุ และด้านมลพิษ

รศ.เกษม ประเมินคร่าวๆ หากรถติด 1 ชั่วโมง ผู้ขับรถยนต์จะเสียเวลา คิดเป็นตัวเงิน ประมาณ 100-120 บาทต่อคน หรือนาทีละ 2 บาทต่อคน ขณะที่ผู้ที่ใช้รถสาธารณะ ค่าเสียเวลา นาทีละเกือบ 1 บาทต่อคน ยังไม่นับรวมค่าเชื้อเพลิง ซึ่งในระยะยาวรัฐบาลต้องพัฒนาระบบขนส่ง และผลักดันให้ประชาชนใช้รถสาธารณะ

ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งมีอัตราส่วนการใช้เท่าๆ กัน กรรมการ บริษัท ปตท. ระบุว่าหากระบบขนส่งทั้งระบบราง และถนนได้รับพัฒนา จะช่วยประหยัดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้มาก

นายประเสริฐระบุว่า ไทยยังพึ่งพาระบบถนนเป็นหลักถึงร้อยละ 86 ซึ่งนอกจากจะทำให้มีต้นทุนสูงแล้ว ยังทำให้เกิดมลภาวะ รวมถึงสภาพการจราจรติดขัด ทำให้อัตราความเร็วรถที่เคลื่อนตัวช้า ซึ่งยิ่งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง