วิรัช ชี้เลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไม่โปร่งใส

กีฬา
19 ต.ค. 56
14:23
58
Logo Thai PBS
วิรัช ชี้เลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไม่โปร่งใส

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะไม่รับรองผลการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล แต่จุดเปลี่ยนสำคัญต้องรอดูการตัดสินใจของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่จะพิจารณาหลักฐานเอกสาร ซึ่งชัยชนะของนายวรวีร์ มะกูดี เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของฝ่ายนายวิรัช ชาญพาณิชย์ และบรรดาสโมสรสมาชิกที่อ้างว่าถูกสวมสิทธิ์ในวันเลือกตั้ง

ในวันเลือกตั้ง 17 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเกิดปัญหามีผู้แสดงสิทธิ์ซ้ำซ้อน คณะกรรมการเลือกตั้งทั้ง 5 คนจากการคัดเลือกของนายวิรัช ชาญพาณิชย์ 3 คน และนายวรวีร์ มะกูดี 2 คน พิจารณาตัดสิทธิ์ตัวแทน 7 สโมสรที่ขาดคุณสมบัติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ใช่เจ้าของทีม ซึ่งประกอบด้วย ปากน้ำโพ เอ็นเอสอาร์ยู, ม.เกษมบัณฑิต, ลูกอีสาน การบินไทย, อุดรธานี เอฟซี, สุรินทร์ ซิตี้, พังงา เอฟซี และตรังเอฟซี แต่ลูกอีสานการบินไทยประกาศสละสิทธิ์ในภายหลัง

หลังจากนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์ 3 คน ที่มาจากการคัดเลือกของนายวรวีร์ 2 คนและนายวิรัช 1 คน อ้างว่ามีผู้ยื่นอุทธรณ์จึงต้องเข้ามาวินิจฉัยใหม่ ขณะที่หลายคนเกิดความสงสัยว่าใคร และสโมสรใดทำเรื่องอุทธรณ์แต่คณะกรรมการไม่สามารถแสดงเอกสารได้ จากนั้นคณะกรรมการมีคำชี้ขาดเปลี่ยนคำสั่งของ กกต.โดยการให้คืนสิทธิ์ตัวแทนเดิมของทั้ง 7 สโมสรกลับมา ซึ่งนายวิรัชชี้ว่านายวรวีร์เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการอุทธรณ์โดยที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของตน กระบวนการอุทธรณ์ไม่ถูกต้องทำให้เกิดการสวมสิทธิ์แทนตัวจริง

นอกจากกรณีของสุรินทร์ซิตี้แล้ว นายวิรัชอ้างว่า พล.อ.ชิณเสน ทองโกมล ประธานผู้ตัดสินกลายเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนหรือ โหวตเตอร์ของทีม ปตท.ระยอง ทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน นายกานต์ จันทร์รัตน์ ผู้จัดการทั่วไปของทีมเมืองทองกลายเป็นโหวตเตอร์ของสโมสรนนทบุรี และนายชัย โชคพุ่มพวงที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอีสานการบินไทยกลายเป็นโหวตเตอร์ของทีม ทั้งที่รูปแบบสากล และตามธรรมนูญฟีฟ่านั้นระบุว่าผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนต้องมีความเกี่ยวพันกับสโมสร

แม้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเกิดความสับสน และมีการประท้วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชัดเจน แต่นายวิรัชยังคงถูกมองว่ามีส่วนในการเล่นเก่นเกมส์การเมืองเช่นกัน โดยมีนายเนวิน ชิดชอบอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนายวิรัชชี้แจงในรายการตอบโจทย์ว่าเเป็นความสัมพันธ์เพียงรุ่นพี่รุ่นน้องเท่านั้น

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กกต.ตัดสินใจไม่เด็ดขาดพอ ซึ่งฟีฟ่าให้อำนาจ กกต.ในการเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิกการเลือกตั้งเองไปแล้ว แต่กกต.เลือกที่จะให้มีการเลือกตั้งท่ามกลางปัญหาประท้วง ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่สามารถชี้แจงต่อสังคมได้เช่นกัน

กกต.ประกาศไม่รับรองการเลือกตั้งในภายหลัง แต่หากการกีฬาแห่งประเทศไทยรับรองสมาคมก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนกับกรมการปกครองต่อไปได้ นายสมพร ไชยสงคราม ผู้อำนวยการกองนิติการ ของ กกท.ในฐานะผู้สังเกตุการณ์การเลือกตั้งเห็นว่ารูปแบบการเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอน และถูกต้องแม้มีการประท้วงจากสโมสรสมาชิก จากนี้กกท.จะรอรายงานจากสมาคมฟุตบอลภายใน 15 วัน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ระเบียบข้อบังคับ รวมถึงกฎหมายต่างๆ หากไม่มีปัญหา กกท.จะออกหนังสือรับรองไปยังกรมการปกครองเพื่อจดทะเบียนภายใน 30 วัน

ทางด้านสโมสรสมาชิกที่เสียสิทธิ์ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องในชั้นศาล ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 เดือนและนำคำร้องไปคัดค้านการจดทะเบียนผลการเลือกตั้งกับกรมการปกครองต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง