เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพมอมยารูดทรัพย์

19 ต.ค. 56
14:57
220
Logo Thai PBS
เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพมอมยารูดทรัพย์

ตำรวจจับผู้ก่อเหตุมอมยารูดทรัพย์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดีได้แล้ว พบประวัติเคยก่อเหตุลักทรัพย์หลายครั้ง ส่วนการมอมยารูดทรัพย์ผู้ก่อเหตุรับว่าทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 18 ครั้ง โดยเลือกผู้สูงอายุที่เดินทางเพียงลำพัง นอกจากนี้ตำรวจยังพบว่ายาที่ผู้ต้องหาใช้ก่อเหตุเป็นยาที่ใช้วางยาสลบในสัตว์ ไม่มีสีกลิ่น พร้อมเตือนประชาชนยังมีมิจฉาชีพอีกหลายกลุ่มใช้วิธีการนี้

ผู้เสียหายหลายคนเข้าชี้ตัวนายสมเกียรติ เพ็ชรงาม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งตำรวจติดตามจับได้ที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด นายสมเกียรติ คือผู้ที่ก่อเหตุ มอมยารูดทรัพย์ ผู้เสียหายทั้งที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี และตามที่สาธารณะต่าง ๆ

1 ในผู้เสียหาย เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะมารอรับการรักษาที่โรงพยาบาล นายสมเกียรติเข้ามาตีสนิท โดยอาสาไปซื้อน้ำดื่มให้ และเห็นว่านายสมเกียรติใช้หน้ากากอนามัยปิดปากไว้ จึงคิดว่าเป็นผู้มารับการรักษาเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่เอะใจคิดว่าจะเป็นพวกมิจฉาชีพ

การสอบปากคำนายสมเกียรติ รับสารภาพ ตลอดข้อกล่าวหาว่า เลือกก่อเหตุตามสถานที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีขนส่ง โรงพยาบาล โดยเป้าหมาย เลือกกลุ่มคนสูงอายุหรือที่ผู้ที่เห็นว่ามีทรัพย์ ที่สำคัญเดินทางมาตามลำพัง สำหรับระยะเวลาที่ก่อเหตุ ทำมาตั้งแต่ปี 2555 รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 18 ครั้ง

ส่วนยาหรือสารที่ใช้ผสมน้ำให้ผู้เสียหายดื่ม ปฏิเสธว่าไม่ทราบชื่อ แต่เผยว่า เคยซื้อมาใช้กับสุนัขที่บ้าน แล้วเห็นสุนัขเกิดอาการสะลึมสะลือ จึงนำใช้กับผู้คนเพื่อหวังชิงทรัพย์ สำหรับประวัตินายสมเกียรติ เคยต้องโทษคดีชิงทรัพย์มาก่อนด้วย พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุด้วยว่า นอกจากนายสมเกียรติ ยังมีมิจฉาชีพกลุ่มอื่นที่ใช้สารนี้ก่อเหตุรูดทรัพย์ซึ่งยังลอยนวลอยู่ด้วย

ขณะที่ นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า สารดังกล่าวไม่มีสี ไม่มีรส และไม่มีกลิ่น จึงยากต่อการสังเกต และออกฤทธิ์ได้ภายใน 5 - 10 นาที มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะถึงขั้นหมดสติ และออกฤทธิ์นาน 4 - 5 ชั่วโมง ตามปริมาณที่ใช้ แต่หากผู้ถูกกระทำเป็นผู้ป่วยมีโรคประจำตัวก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งทางสถาบันการแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณะสุข อยู่ระหว่างการพิจารณา นำสารดังกล่าวรวมถึงสารจำพวกที่ออกฤิทธิ์ในลักษณะเดียวกันนี้ เข้าเป็นสารควบคุม

ข้อมูลทางการแพทย์ ระบุด้วยว่า การขับสารออกจากร่างกาย ไม่สามารถทำได้โดยง่าย หากพบแพทย์ตามหลักวิชาการ จะมีการให้ยาต้านพิษ ส่วนกรณีฉุกเฉินให้พยายามขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะสารดังกล่าว มีฤทธิ์อ่อนกว่ากลุ่มยาสลบ ทำให้อาจจะยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในช่วงสั้น ๆ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง