"รัฐบาล" เตรียมรับผลตัดสินศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

การเมือง
20 ต.ค. 56
14:13
105
Logo Thai PBS
"รัฐบาล" เตรียมรับผลตัดสินศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

วันพรุ่งนี้ (21 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมพร้อมหลังศาลโลกมีคำตัดสินใจคดีตีความคำพิพากษาศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ตามที่ฝ่ายกัมพูชายื่นคำร้อง โดยรัฐบาลย้ำใช้แนวทางสันติไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาในแนวทางใด ขณะที่กองทัพ เตรียมพร้อมดูแลสถานการณ์ชายแดนตามปกติ และยังไม่เพิ่มเติมกำลัง

50 ปี หลังศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหาร อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และไทยต้องถอนทหารออกจากตัวปราสาท ตามที่กัมพูชาเรียกร้อง เป็นบทเรียนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยที่ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลโลก และ 11 พ.ย.นี้ จะเป็นวันชี้ชะตาปัญหาพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทย กัมพูชา อีกครั้ง เมื่อศาลโลกนัดตัดสินคดีตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ตามที่ฝ่ายกัมพูชายื่นร้องต่อศาลโลก ท่ามกลางสถานการณ์ชายแดนไทย –กัมพูชา ที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงทั้งการเผชิญหน้าทางทหาร และปัญหาการเมืองภายในประเทศ มากกว่า 5 ปี

วันพรุ่งนี้ (21 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประชุมฝ่ายความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเตรียมความพร้อมรองรับคำตัดสินของศาลโลก ทุกด้านทั้งด้านการเมือง การทูต และการทหาร รวมถึงกำหนดท่าทีของไทย พร้อมทั้งจะตั้งคณะทำงานพิเศษร่วมหารือกับฝ่ายกัมพูชา ก่อนการตัดสินของศาลโลก เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ร่วมกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และกระทบต่อความสัมพันธ์ ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาในรูปแบบใด

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจะพยายามรักษาความสงบตามแนวชายแดน และการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดสันติ เพื่อร่วมกันพัฒนาภูมิภาคอาเซียน และสร้างเสริมเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่ารัฐบาลกัมพูชา มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกัน

รัฐบาลยังเตรียมมาตรการดูแลความเรียบร้อยภายในประเทศ ทั้งการให้ข้อมูลกับประชาชนมากขึ้นก่อนวันตัดสินคดี และจะพิจารณาถ่ายทอดสดการอ่านคำตัดสินของศาลโลก นอกเหนือจากได้ขยาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไปจนถึง 30 พ.ย. โดยเหตุผลส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการตัดสินคดีเพราะเกรงผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจจะเชื่อมโยงกัน ขณะที่สถานการณ์ชายแดนไทย กัมพูชา ล่าสุด กองทัพบกได้เน้นย้ำให้กองกำลังสุรนารีดูแลพื้นที่บริเวณแนวชายแดนตามปกติ ไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการกระทบกระทั่ง และยังไม่มีการเพิ่มเติมกำลัง

กัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อเดือน เม.ย.54 เพื่อให้เกิดความขัดเจนในเรื่องเขตแดนรอบปราสาทวิหาร หลังจากยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก และต้องกำหนดแผนพัฒนาพื้นที่ โดยครอบคลุมเข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไทยและกัมพูชา ต่างอ้างสิทธิ ตามแผนที่คนละฉบับ และทั้งสองฝ่ายได้เข้าให้การทางวาจาต่อศาลโลกเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญคือการให้ข้อมูลโต้แย้งกันในศาลเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่กัมพูชาใช้อ้างสิทธิ์

ฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์ว่า ผลการตัดสินของศาลโลกอาจเป็นไปได้ 4 แนวทางคือ ศาลไม่มีอำนาจตีความ หรือ ไม่มีประเด็นให้ตีความ ศาลตัดสินว่า ขอบเขตใกล้เคียงปราสาทเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000  ตามคำร้องของกัมพูชา ศาลตัดสินตามคำร้องไทยที่ระบุขอบเขตใกล้เคียงปราสาทเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 และสุดท้ายศาลอาจตัดสินแบบกลาง ๆ เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปหารือร่วมกันโดยยึดหลักสันติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง