"ความสมจริง" กับ "ความสนุก" ของหนัง "Sci-Fi "

Logo Thai PBS
"ความสมจริง" กับ "ความสนุก" ของหนัง "Sci-Fi "

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปไกล หนังวิทยาศาสตร์ก็ควรจะต้องยิ่งสมจริงมากขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว หนังวิทยาศาสตร์ทุกเรื่องกลับไม่อาจสร้างทุกฉากให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงได้อย่างสมบูรณ์ และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อขึ้นชื่อว่า เป็นหนังไซไฟที่ได้รับคำชมเรื่องความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์มากมาย แต่ Gravity ก็ยังไม่วายโดนตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดย Neil deGrasse Tyson ผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลอง Hayden Planetarium ในนิวยอร์ค ได้ตั้งข้อสังเกตหลายข้อผ่านทางทวิตเตอร์ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล สถานีอวกาศนานาชาติ และสถานีอวกาศของจีน ไม่ควรจะโคจรอยู่ในแนวเดียวกันจนมองเห็นกันได้ หรือวงโคจรของดาวเทียมที่ปกติต้องหมุนจากทิศตะวันตกไปตะวันออก แต่เศษของดาวเทียมในหนังกลับหมุนไปในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างของหนังไซไฟเรื่องใหม่ ที่ยังคงมีจุดที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะมีผู้ออกมาชี้ข้อผิดพลาดเสมอเมื่อออกฉาย

แม้หลายข้อเท็จจริงจะเป็นที่ทราบกันดี แต่ด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นความบันเทิง หนังไซไฟหลายเรื่องจึงเลือกที่จะรักษาความสนุกของผู้ชมไว้มากกว่าหลักการ เช่น ในอวกาศย่อมต้องไม่มีเสียงเพราะขาดอากาศเป็นสื่อกลาง แต่ผู้ชมก็มักจะได้ยินสียงระเบิดหรือการพุ่งชนทุกครั้งเพื่ออรรถรสของภาพยนตร์ หรือการสั่งหยุดวัตถุทุกชนิดในอวกาศที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ทันทีตามกฎแรงเฉื่อย ขณะที่ข้อจำกัดด้านการถ่ายทำภาพยนตร์บนพื้นโลกก็เป็นอุปสรรคเรื่องแรงโน้มถ่วง เช่นเส้นผมของนักบินที่ต้องกระจายตัวแบบไร้น้ำหนักอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคด้านกราฟิกที่ละเอียดและต้นทุนสูงมากหากต้องรักษากฎข้อนี้ไว้

อุกกาบาตใหญ่เท่ารัฐเท็กซัสที่ต้องถูกค้นพบก่อนหน้าหลายปีไม่ใช่เพียง 18 วัน หรือการปลดถังเชื้อเพลิง 3 ชิ้นพร้อมกันซึ่งผิดลำดับและเสี่ยงอันตรายที่จะชนกันเอง คือความผิดพลาดในภาพยนตร์เรื่อง Armageddon ที่ว่ากันว่ามีถึง 168 แห่งจนองค์กรนาซาถึงกับใช้เป็นแบบทดสอบผู้สมัครงาน แต่ก็เป็น 1 ในหนังไซไฟดราม่ายอดนิยมที่มีผู้จดจำและประทับใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ขณะที่อีกหลายเรื่องเช่น ยานอวกาศพลังงานอิออนใน Star Trek ที่ฉายตั้งแต่ปี 1968 คือจินตนาการที่ถูกพัฒนาจนนำมาใช้จริงเป็นดาวเทียมสื่อสารพลังงานอิออนในปัจจุบัน แม้หนังไซไฟทุกเรื่อง อาจมีข้อผิดพลาดที่นักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดอยู่เสมอ แต่ก็คงไม่สำคัญเท่ากับความบันเทิง และจินตนาการของมนุษย์ ที่จะเป็นก้าวแรกของการพัฒนาความรู้บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

ว่ากันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของนิยายหรือหนังไซไฟแท้ๆ นั้นไม่ใช่การที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตามหลักการ แต่หมายถึงการสร้างเนื้อหาออกมาแบบที่เคารพหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การทำให้ผู้ชมเชื่อในสิ่งลี้ลับหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ  


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง