มุมมองเยาวชน-ครู กับการปรับการสอน "นาฏศิลป์"

Logo Thai PBS
มุมมองเยาวชน-ครู กับการปรับการสอน "นาฏศิลป์"

มีหลายเหตุผล ที่เห็นด้วยกับการให้วิชานาฏศิลป์ในโรงเรียนเป็นตัวเลือกสำหรับเด็กมัธยม เพราะมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ศึกษาด้านอื่นๆ และอาจมองไม่เห็นทางสำเร็จของวิชาชีพด้านนี้ในอนาคต แต่สำหรับเยาวชนบางกลุ่มกลับสนุกและสนใจที่จะเรียนรู้นาฏศิลป์พอๆ กับวิชาหลัก พวกเขามองเห็นประโยชน์จากสิ่งนี้

ไม่ต้องนั่งท่องนั่งจำท่ารำกันมากมาย เพียงแค่ครูยกหัวโขนหนุมาน ทหารเอกคนสำคัญของพระรามมาให้ชม พร้อมนำเรื่องสนุกๆจากวรรณกรรมและอุปนิสัยของตัวละครมาบอกเล่า ก็เข้าใจได้ถึงท่าทางที่ต้องแสดง นี่คือวิธีการสอนที่สอดแทรกเกร็ดความรู้ด้านนาฏศิลป์ ถูกใจจนมีนักเรียนโขนเกือบ 100 คน มาร่วมชั้นเรียน ไม้เว้นแม้ในช่วงปิดเทอม ที่ยังมีนักเรียนโขนบางส่วนเลือกใช้วันหยุดไปกับกิจกรรมที่ตัวเองรัก แม้จะเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงตามหลักสูตร แต่การสอนเสริมหลังเลิกเรียนของทุกวันภายในรั้วโรงเรียนสาธิต มศว ก็จำเป็นสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้ เพื่อนำไปแสดงในกิจกรรมทางวัฒนธรรม และเพิ่มพื้นฐานต่อยอดไปสู่วิชาอื่นๆ 

    
 
การปรับหลักสูตรการศึกษาใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เดิมในระดับประถมมี 8 กลุ่มสาระ เหลือ 6 กลุ่ม โดยวิชานาฏศิลป์จัดใหม่ไว้ในกลุ่มความรู้สังคม และความเป็นมนุษย์ ส่วนมัธยมอยู่ในวิชาเลือก แทนที่วิชาบังคับแบบเดิม ทำให้เกิดความกังวลใจของผู้เชี่ยวชาญในวงการนาฏศิลป์ ที่มองว่า หากสถานะวิชานาฏศิลป์ถูกลดความสำคัญลง อาจส่งผลให้ผู้เรียนเลือกรายวิชาที่สนใจ มากกว่าจะเห็นคุณค่าของดนตรีนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานทางการศึกษา 
 
การปรับลดวิชานาฏศิลป์ ไม่เพียงมีผลต่อหลักสูตร หากยังกระทบกับอนาคตของนักศึกษาสายนาฏศิลป์ที่ตั้งใจจบไปเป็นครู ก่อนหน้านี้มีกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากคนในแวดวง เนื่องจากมองว่า นาฏศิลป์เป็นพื้นฐานชีวิตวัฒนธรรมของไทย และในวงการบันเทิงมีผู้ประสบความสำเร็จมากมายจากการมีพื้นฐานนาฏศิลป์ติดตัว การลดระดับความสำคัญของวิชานี้ จึงไม่ต่างกับการลดโอกาสที่เด็กจะได้เข้าถึงหรือทำความรู้จักอย่างเพียงพอ เพื่อปูพื้นฐานปลูกฝังสำหรับผู้มีใจรัก ให้เลือกเส้นทางในสายวิชาชีพนี้ต่อได้
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง