มูลนิธิบูรณะนิเวศเร่งรัฐออก กม.มาตรฐานสารตะกั่วในสีทาบ้าน

สังคม
22 ต.ค. 56
05:10
157
Logo Thai PBS
มูลนิธิบูรณะนิเวศเร่งรัฐออก กม.มาตรฐานสารตะกั่วในสีทาบ้าน

ผลทดสอบตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคารของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่ามีการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วสูงเกินจากค่าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์กำหนด ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก

 
น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยผลทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร จากการสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมาณฑล จำนวน 120 ตัวอย่าง 68 ยี่ห้อ พบร้อยละ 79 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ที่กำหนดให้มีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม โดยพบมากในโทนสีเหลือง ขณะที่  8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลากว่า ไม่ผสมสารตะกั่ว กลับพบปริมาณสารตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม 
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ผลิตสีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี คือ 15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท ที่ผลิตตาม มอก.ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ปรับปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันให้เข้มงวดขึ้นจาก 600 พีพีเอ็ม เหลือเพียง 100 พีพีเอ็ม แต่มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นไปแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับ และลงโทษทางกฎหมาย 
 
รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ผลการศึกษาสารตะกั่วในเลือดของเด็กไทย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา จำนวน 1,526 คน พบ เด็กจำนวน 197 คน มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เกือบทุกประเทศกำหนดให้เป็นค่าความปลอดภัย 
 
ขณะที่นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งรัดการออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคาร ให้มีประกาศบังคับใช้ให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี กระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จ โดยการบังคับนี้จะรวมไปถึงการนำเข้า และอาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการทาสีใหม่ในอาคารที่มีอายุ 5-10 ปีด้วย 
 
ด้านนายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลการวิจัย อย่างไรก็ตาม สมอ.มีการกำหนดมาตรฐานของสีชัดเจนอยู่แล้ว และมีเจ้าพนักงานลงไปตรวจอย่างละเอียด หากไม่ได้มาตรฐาน ทาง สมอ.สามารถยึดอายัดผลิตภัณฑ์หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันที ทั้งนี้ ขอให้ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศส่งข้อมูลมายัง สมอ. เพื่อให้ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้  "โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว" เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันมีปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 ราย โดยเด็กส่วนใหญ่อาศัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง