"นักเขียน" ตะวันตกยอมให้ "จีน" เซนเซอร์วรรณกรรม แลกสิทธิ์ตีพิมพ์

Logo Thai PBS
"นักเขียน" ตะวันตกยอมให้ "จีน" เซนเซอร์วรรณกรรม แลกสิทธิ์ตีพิมพ์

การตัดทอนเนื้อหาในงานเขียนเป็นเรื่องยากที่ผู้ประพันธ์จะยอมได้ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก แต่สำหรับตลาดวรรณกรรมในจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีนักเขียนไม่น้อยยอมให้มีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงการเมือง เพื่อให้ได้สิทธิ์จัดจำหน่าย แม้จะถูกวิจารณ์ว่า ละทิ้งจรรยาบรรณของสื่อมวลชนก็ตาม

หนังสือ Deng Xiaoping and the Transformation of China ของ เอซซ่า โวเกล ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญระหว่างที่ เติ้งเสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีน ทั้งการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในยุโรป, การกักตัว จ้าวจื่อหยาง อดีตนายกรัฐมนตรีผู้คัดค้านการปราบปรามนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน จนถึงความเกรงกลัวต่อพลังมวลชนที่ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงมือสั่นจนทำเกี๊ยวหล่นจากตะเกียบในงานเลี้ยงรับรองผู้นำสหภาพโซเวียต 

 
แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้กลับไปไม่พบในฉบับแปลภาษาจีน เพราะถูกสำนักพิมพ์เซนเซอร์ด้วยกลัวทางการจีนจะห้ามจำหน่าย ผู้เห็นชอบการตัดทอนครั้งนี้ยังรวมถึงตัวผู้ประพันธ์เอง ที่เห็นว่า ผลงานถูกตัดไปหนึ่งส่วน ทำให้เก้าส่วนที่เหลือมีโอกาสได้วางจำหน่าย จนภายหลังหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จทางยอดขาย ถึง 650,000 เล่มในจีน 
 
ในอดีตนั้น ยากที่จะมีนักเขียนตะวันตกยอมอ่อนข้อต่อทางการจีน เช่นครั้งที่ ฮิลลารี คลินตัน สั่งห้ามจำหน่ายอัตชีวประวัติ Living History ในจีน หลังพบว่า หนังสือของเธอถูกตัดทอนเนื้อหาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ครั้งที่ Age of Turbulence งานเขียนของ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ถูกห้ามจำหน่ายในจีน หลังเขาไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนเนื้อหาในหนังสือ 

    

 
แต่ 5 ปีมานี้ ท่าทีแข็งขืนของนักเขียนต่างชาติเริ่มลดลง หลังตลาดวรรณกรรมจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อผลงานของนักเขียนตะวันตกเป็นที่ต้องการของนักอ่านแดนมังกรอย่างสูง โดยปีก่อนยอดขายอีบุ๊คของนักเขียนอเมริกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 และปีที่แล้วมีการซื้อลิขสิทธิ์การแปลหนังสือต่างชาติในจีนกว่า 16,000 เรื่อง เพิ่มจากปี 1995 เกือบ 10 เท่า กระแสดังกล่าว ถือเป็นขุมทรัพย์ของนักเขียนดังที่สามารถเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้ง วอลเตอร์ ไอแซคเซ่น เจ้าของชีวประวัติสตีฟ จ็อบส์ ได้ค่าลิขสิทธิ์เกือบ 25 ล้านบาท ส่วน เจ.เค.โรว์ลิง ก็ทำเงินค่าลิขสิทธิ์ปีที่แล้วถึง 72 ล้านบาท 
 
แม้วันนี้ จีนจะเปิดกว้างด้านการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่มีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องที่ทางการจีนยังคงไม่อนุญาตให้นำเสนอ ทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อย, กลุ่มฟาหลุนกง และประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน การกล่าวถึงการปฎิวัติวัฒนธรรม และผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด บ่อยครั้งที่เจ้าของสำนักพิมพ์ในจีนเป็นผู้เซนเซอร์เนื้อหาดังกล่าวเสียเองเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม แต่ใช่ว่านักเขียนทุกคนจะยอมทำตาม เมื่อ เฉียวเฉ่าหลง นักเขียนอังกฤษเชื้อสายจีน ไม่ยอมให้ผลงานล่าสุดของตนตีพิมพ์ในภาษาจีน หลังถูกห้ามใช้เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นฉากหลังสำหรับการก่ออาชญากรรม โดย เจมส์ คินจ์ คอลัมนิสต์ของ Financial Times ผู้ไม่ยอมให้งานเขียนแปลเป็นภาษาจีนหลังถูกบังคับให้ตัดเนื้อหาออกไปทั้งบท กล่าวว่าในฐานะสื่อมวลชนความถูกต้องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การยอมบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางธุรกิจ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง