"วาทยากรหญิง" ขนบที่เปลี่ยนไปในดนตรีคลาสสิก

Logo Thai PBS
"วาทยากรหญิง" ขนบที่เปลี่ยนไปในดนตรีคลาสสิก

ปรากฎการณ์นักวาทยากรหญิงที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรีคลาสสิคนี้ที่เริ่มเปิดใจยอมให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่คำวิจารณ์วาทยากรหญิงที่ขึ้นมานำวงออร์เคสตร้าในหลายประเทศ ก็แสดงให้เห็นว่าการกีดกันทางเพศในวงการดนตรียังไม่เคยหมดไป

ท่วงท่าที่ดูทะมัดทะแมง กับการกำหนดจังหวะ ถ่ายทอดความรู้สึกของโน้ตแต่ละตัว เพื่อส่งผ่านอารมณ์ไปยังนักดนตรีในวงออร์เคสตร้ากว่า 100 ชิ้น ทำให้บทเพลง Dona Nobis Pacem (โดนา โนบิส พาเชม) ที่แต่งขึ้นเพื่อสื่อความโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรเลงออกมาได้สมบูรณ์ตามความตั้งใจเจ้าของบทประพันธ์ ผลงานการควบคุมวงของ ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ หนึ่งในวาทยากรหญิงไม่กี่คนที่ได้รับยอมรับในวงการดนตรีคลาสสิคอาชีพของไทย

 
ไม่เพียงแค่ในเมืองไทยที่สตรีเริ่มมีบทบาทต่อวงการเพลงคลาสสิกเท่านั้น หากยังมีวาทยากรหญิงอีกหลายคนที่สามารถสร้างชื่อในเวทีระดับโลกมาแล้ว ทั้ง ฮันนา ชาง อดีตนักเชลโล่ชาวเกาหลีใต้วัย 30 ปี ที่ได้ควบคุมวงกาตาร์ ฟิลด์ฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า หรือจะเป็น วาทยากรชาวจีนอย่าง Xian Zhang ที่สร้างชื่อจากการเป็นผู้อำนวยเพลงหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงคลาสสิกประเทศอิตาลี กับวง Orchestra Sinfonica di Milano Giuseppe Verdi เมื่อปี 2009 หากในปัจจุบันก็ยังมีเสียงวิจารณ์โดยอคติทางเพศ อย่างกรณี วาซิลี เพเทรนโก้ วาทยากรชาวรัสเซียเคยกล่าวว่า ผู้หญิงไม่เหมาะกับการเป็นวาทยากรเพราะจะทำให้นักดนตรีชายเสียสมาธิระหว่างบรรเลง

    

 
กำแพงความเชื่อของวงการดนตรีคลาสสิกที่มองว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชายได้ถูกทำลายลงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1982 หลังจากที่วง Berlin Philhamonic 1 ในวงออร์เคสตร้าชั้นนำของประเทศเยอรมันได้โอกาสให้นักดนตรีหญิงเข้าร่วมวง แม้ภายหลังจะถูกแรงต่อต้านภายในวงจนต้องลาออกก็ตาม ซึ่งต้องรอไปอีก 15 ปีที่วงออร์เคสตร้าอายุเก่าแก่อย่าง Vienna Philharmonic จะเริ่มเปิดรับสมาชิกที่เป็นผู้หญิง // แม้บทบาทจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่การทำหน้าที่วาทยากรอาจเป็นสิ่งที่แคลงใจในหมู่นักดนตรีบางคนที่มองว่าปัจจัยด้านสรีระจะส่งผลต่อการขึ้นอำนวยเพลงเป็นเวลานานๆเมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีร่างกายแข็งแรงกว่า หากลักษณะนิสัยที่ละเอียดอ่อนของผู้หญิงก็อาจเป็นจุดเด่นที่ทำให้พวกเธอเข้าถึงอารมณ์เพลงได้อย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง