มอง "พม่า" ผ่านหนัง "สารคดี"

Logo Thai PBS
มอง "พม่า" ผ่านหนัง "สารคดี"

ความต้องการสะท้อนปัญหาภายในประเทศ ทำให้นักสร้างหนังชาวพม่าผลิตภาพยนตร์สารคดีเพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชน แม้จะต้องเสี่ยงกับการเพ่งเล็งจากทางการ ยิ่งมีการเปิดกว้างในนโยบายควบคุมสื่อของรัฐบาลพม่าในระยะหลัง ก็ทำให้ภาพยนตร์สารคดีแนวนี้ถูกผลิตมากขึ้น และเป็นที่จับตาของวงการภาพยนตร์

ภาพจากกล้องวิดีโอที่นักข่าวพลเมืองชาวพม่าบันทึกไว้ นอกจากตีแผ่ความโหดร้ายของรัฐบาลทหารพม่าในการปราบพระสงฆ์และประชาชนที่ลุกขึ้นมาประท้วงในเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติผ้าเหลือง‘ เมื่อปี 2550 ยังให้เห็นถึงความพยายามของนักสร้างหนังชาวพม่าที่ต้องถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นแม้ต้องแลกด้วยชีวิต เรื่องราวจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Burma VJ’ ที่ผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ‘อันเดอร์ส ออสเตอร์การ์ด (Anders Ostergaard) นำคลิปเหตุการณ์จริงมานำเสนอ จนคว้ากว่า 50 รางวัลจากเวทีการประกวดทั่วโลก และทำให้สถานการณ์ในพม่ากลายเป็นที่สนใจของสังคมโลก มีความพยายามไม่น้อยจากผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีพม่าที่ต้องการสะท้อนความจริงในบ้านเกิด แต่ด้วยข้อจำกัดในการทำหนัง ทั้งการเซ็นเซอร์สื่อที่เข้มงวดของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2507 ก็ทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีผลงานสะท้อนสังคมถูกสร้างมากนัก
 
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 รัฐบาลพม่าได้เปิดโอกาสให้สื่อมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น โดยผ่อนปรนกฎหมายเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ หลังใช้มายาวนานเกือบ 50 ปี ทำให้มีผลงานภาพยนตร์วิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองถูกสร้างออกมาไม่น้อย เช่น Min Htin Ko Ko Gyi ที่นำเสนอผลร้ายของยาฆ่าแมลงต่อทะเลสาบอินเล ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Floating Tomatoes และคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมอันดับที่ 2 ในงาน Asean Film Festival ที่เวียดนาม ด้วยความต้องการรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในพม่าหลังเปิดประเทศ ทำให้มีแรงสนับสนุนจากนอกประเทศ ทั้งการให้ทุน และเปิดคอร์สสอนทำหนัง สร้างโอกาสให้นักทำหนังพม่าได้สร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น
 
อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "สารคดีพม่าส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนและฝึกฝนจากต่างประเทศ โดยพม่ามีศักยภาพ คนรุ่นใหม่ที่อยากสะท้อนสังคมพม่า แต่ไม่มีช่องทางโดยในแต่ละปีผลิตหนังได้ไม่กี่เรื่อง ซึ่งกว่าจะทำได้ต้องทำ ความคุ้นเคยกับเรื่องนั้น คนพม่าก็ไม่คุ้นกับไวยกรณ์กล้อง ผู้กำกับซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่าชาวบ้านจะคุ้นกล้อง
 
ขณะที่ ภาณุ อารี ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ระบุว่า "หนังสารคดีนำประเด็นสังคม การเมือง วัฒนธรรมมาทำได้ เป็นช่องทางที่นำเสนอง่ายกว่า และต่างชาติก็ตื่นเต้น อาจเป็นเหตุผลที่หนังสารคดีพม่าไปไกลกว่าหนังเล่าเรื่อง"
 

 

ความตื่นตัวในวงการหนังสารคดีพม่า ยังทำให้เกิดการสนับสนุนจัดเทศกาล Wathann Film Fest ในปี 2553 ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์สารคดีเป็นประจำทุกปี รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์สิทธิมนุษยชน ที่จัดเป็นครั้งแรกในปีนี้ (56) โดยมี อองซาน ซูจี เป็นผู้มอบรางวัลไม่เพียงเป็นโอกาสของนักทำหนังชาวพม่า ภาพยนตร์เหล่านี้ยังเป็นอีกเสียงสะท้อนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่า
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง