คนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมใหม่แบบ New Culture

Logo Thai PBS
คนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมใหม่แบบ New Culture

สื่อใหม่อย่างโซเชียล มีเดีย แม้จะใช้การลงทุนไม่มาก แต่สร้างผลกระทบได้กว้างขวาง ปัจจุบัน จึงมักนำมาเป็นกระบอกเสียง เพื่อส่งต่อความคิดถึงผู้คน หนึ่งในนั้นคือเพจ New Culture ที่เกิดจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ หวังให้คนไทยได้ขบคิด ตั้งคำถามถึงสังคม และวัฒนธรรมรอบตัว

"ไม่สวมเครื่องแบบ ไม่ให้เข้าห้องสอน ไม่ให้เงินเดือน" ระเบียบบังคับครูอาจารย์ เพื่ออนาคตการศึกษาไทยที่ดีกว่า ภาพเสียดสีวัฒนธรรมการใส่เครื่องแบบ ที่มีคนแชร์เป็นปรากฏการณ์เกือบ 10,000 ครั้ง หรือล่าสุดกับการล้อเลียนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการแช่แข็งวัฒนธรรมของชาติ คือผลงานของ New Culture เพจมาแรงที่มียอดคนกดไลค์เกือบ 13,000 คน ภายในระยะเวลา 4 เดือน
 
คำถามที่ไม่เคยหาคำตอบได้ในสังคมไทย และมุมมองทางวัฒนธรรมที่ยังต้องการคำอธิบายให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ “ปราบ เลาหะโรจนพันธ์” และ “สรัช สินธุประมา” ซึ่งสนใจประเด็นนี้ตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวกับคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน ก่อตั้งกลุ่ม New Culture แบ่งปันความคิดเรื่องวัฒนธรรมจากมุมมองคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำไปสู่การถกเถียง และทำความเข้าใจเรื่องรอบตัว 
 
ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ทีมงานเพจ New Culture กล่าวว่า เราไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมว่าเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นวิวัฒนาการ ถ้าไทยจะเปลี่ยนจากประเทศแรงงานราคาถูก เราต้องการความสร้างสรรค์ระดับปัจเจก คิดเองได้ กลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนต้องยอมรับความแตกต่าง วัฒนธรรมใหม่ที่ต้องเกิดขึ้น คือการไม่ใส่ชุดนักศึกษา
 
สรัช สินธุประมา ทีมงานเพจ New Culture กล่าวว่า ทำเรื่องวัฒนธรรมที่บางคนคิดว่าแตะต้องไม่ได้ให้เป็นเรื่องสนุก เหมือนประชด จะได้นำเสนอประเด็นยากๆ ได้อย่างไม่น่าเบื่อ
 
New Culture เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกอายุตั้งแต่ 22 - 35 ปี ที่มองเห็นปัญหาของศิลปวัฒนธรรมไทยว่าให้ความสำคัญเฉพาะกับของเก่า จนก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จึงหวังเป็นอีกแรงที่ช่วยกระตุ้นค่านิยมทางสังคมใหม่ๆ ให้คนตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และยอมรับความแตกต่าง การใช้สื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียล มีเดีย ช่วยให้เข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก ในราคาที่ถูก และยังเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
 
สรัช ทีมงานเพจ New Culture กล่าวว่า เป้าหมายคือเปลี่ยนแนวคิดคนรุ่นใหม่ การใช้ FB ทิศทางนี้ก็โดนใจวัยรุ่น ทำงานชิ้นนึงไปไกลกว่าที่เราต้องการสื่อ คนเอาไปต่อยอดความคิด พูดคุยในกลุ่มตัวเอง
 
ปราบ ทีมงานเพจ New Culture กล่าวว่า วัฒนธรรมไทยมักปิดตาคน มองคนคิดต่าง สู้เพื่อสิทธิ์เป็นตัวประหลาด แม้สิ่งนั้นจะถูกก็ตาม ควรเปลี่ยนตรงนี้ จะได้ก้าวไปสู่มาตรฐานโลก
 
ปัจจุบันเพจ New Culture ให้ความสำคัญกับประเด็นทางการศึกษา ทั้งเรื่องของการใส่เครื่องแบบ และระบบโซตัส รวมถึงการแช่แข็งวัฒนธรรม นอกจากกิจกรรมบนโลกออนไลน์ ยังส่งเสริมให้มีกิจกรรมเชิงออฟไลน์ โดยเริ่มจาก SOTUS Festival ที่จัดประกวดคลิปสั้นรับน้อง ซึ่งทำให้เห็นหลากมุมของระบบโซตัสในสถานศึกษา แม้การเปลี่ยนแปลงทางความคิดต้องใช้เวลานาน แต่ทีมงาน New Culture ก็มุ่งมั่นที่จะหว่านเมล็ดทางความคิดให้คนรุ่นใหม่ต่อไป หวังให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมไทยอย่างแท้จริง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง