ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 7 มาตรา

27 ต.ค. 56
13:14
1,568
Logo Thai PBS
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 7 มาตรา

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เตรียมเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายและลงมติ วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ หลังการประชุมนัดสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) สำหรับเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีข้อสังเกตว่า ขัดต่อหลักการเดิม โดยเฉพาะกรอบการนิรโทษกรรม ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมอภิปรายแปรญัตติ ทุกคนและทุกมาตรา เพื่อโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

หากนับวันจันทร์ที่จะประชุมนัดสุดท้าย ก็เท่ากับว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใช้เวลาในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ รวม 81 วัน และหลังจากนี้ ก็จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 6 พฤศจิกายน แต่ร่างกฎหมายที่ได้อาจขัดต่อหลักการของเสียงข้างมาก ซึ่งลงมติเห็นชอบ 300 ต่อ 124 เสียง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่าน

โดยร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีโครงสร้างของกฎหมาย รวม 7 มาตรา ซึ่งมาตรา 1 ว่าด้วยชื่อเรียก และมาตรา 2 ว่าด้วยวันบังคับใช้ เนื้อความโดยรวมยังคงเดิม ส่วนมาตรา 3 ว่าด้วยกรอบของการนิรโทษกรรม กลับเพิ่มถ้อยคำ จนกลายเป็นการขยายวง "จากบรรดาการกระทำของบุคคลหรือประชาชน เพิ่มเติมเป็น การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้น" และจากการกระทำอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ด้วยวาจา โฆษณา หรือการแสดงออก กลับมีถ้อยคำเพิ่มเติมครอบคลุมไปถึง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กร ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร

ขณะเดียวกันก็ขยายเวลาการนิรโทษกรรม ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมให้การกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549-10 พฤษภาคม 2554 แต่ปรับแก้ให้สิ้นสุด ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ส่วนวรรคท้ายเป็นการเพิ่มความว่า "การกระทำของประชาชน ผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือสั่งการให้เคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ตามมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา จะไม่ได้รับนิรโทษกรรม" แต่มาตรา 4 เพิ่มถ้อยคำ "ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด"จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ การระงับฟ้อง,ถอนฟ้อง หรือถ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และให้ถือว่าบุคคลนั้น ไม่เคยต้องคำพิพากษา และในกรณีรับโทษอยู่ให้สิ้นสุดและปล่อยตัว"

<"">
<"">

มาตรา 5 เพิ่มถ้อยคำในตอนท้ายว่า การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดการเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์อื่น อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง สำหรับมาตรา 6 ว่าด้วยการไม่ตัดสิทธิบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง และ มาตรา 7 ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีที่จะรักษาการตามพ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้จากเจตจำนงค์ของการอภิปรายแปรญัตติ เพื่อโน้มน้าวให้สภาผู้แทนราษฎรปรับเปลี่ยนบทบัญญัติในวาระ 2 ก่อนลงมติเห็นชอบในวาระ 3 นั้น สาระสำคัญของการอภิปราย กรรมาธิการเสียงข้างน้อย หรือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะชี้ให้เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขัดต่อหลักการและเหตุผลเดิม จากที่เห็นควรนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง กลายเป็นการนิรโทษกรรมให้บุคคลที่กระทำผิดแบบทั้งหลายทั้งสิ้น หรือที่ถูกเรียกว่า "เหมาเข่ง" "สุดซอย" พร้อมกันนั้นก็จะอภิปรายสะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาของมาตรา 3 จะนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอรัปชั่น เพราะเนื้อความในร่างกฎหมายเปิดไว้กว้าง แต่การระบุถึงองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากเหตุรัฐประหาร ย่อมหมายถึงคดีคตส.ที่ยื่นฟ้องรวม 16 คดี 75 จำเลย และอาจเกี่ยวข้องกับคดี กกต. วินิจฉัยและส่งศาลตัดสิน ทั้งคดียุบพรรคและทุจริตเลือกตั้ง

<"">
<"">

และอาจนับรวมไปถึงคดีป.ป.ช. ทั้งชี้มูล ส่งฟ้อง และรับเรื่องไว้ เพราะการขยายเวลาถึงวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจไม่เพียงแค่คดีในอดีต แต่ยังหมายถึงคดีที่ผูกพันกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วย และหากประมวลความรวม ระหว่างมาตรา 3 และ มาตรา 5 โดยเฉพาะการบัญญัติให้คดีการชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมืองไม่มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์ได้ อาจตีความให้คดีทุจริตคอรัปชั่นสามารถเรียกร้องสิทธิและประโยชน์ได้

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เตรียมอภิปรายทุกคนทุกมาตรา และหากคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นผล ก็ประกาศที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าเข้าข่ายตรากฎหมายไม่ชอบ ตามมาตรา 154 และเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน ตามวงเล็บ 3 ของมาตรา 143 และขัดมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นช่องทางตามกลไกการปกครองที่มีอยู่ ก่อนตัดสินใจถอดสูทเดินออกจากระบบ มาต่อสู้คัดค้านบนถนนประชาธิปไตย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง