สภาฯ อภิปรายดุเดือด ก่อนผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ วาระ 3

การเมือง
1 พ.ย. 56
01:39
150
Logo Thai PBS
สภาฯ อภิปรายดุเดือด ก่อนผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ วาระ 3

การประชุมรัฐสภา วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ลากยาวกว่า 18 ชม. จนถึงเช้าตรู่ของวันนี้ (1 พ.ย.) และเมื่อเวลาประมาณ 3.45 น. สภาฯ ก็ได้โหวดผ่านมาตรา 3 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ทำการแก้ไข ด้วยคะแนน 307 เสียง

การประชุมรัฐสภา วาระพิเศษ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยิ่งดึกก็ยิ่งมีบรรยากาศร้อนแรงขึ้น ก่อนจะมีการถกเถียงกันดุเดือด จนต้องสั่งพักประชุม 10 นาที ในเวลา 03.04 น. จากนั้น เวลา 03.20 น.ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ชี้แจงว่า คงต้องอภิปรายให้จบ และเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัย ซึ่งตนวินิจฉัยให้ประชุมต่อ แม้ว่าฝ่ายค้านจะพยายามขอให้เลื่อนการประชุมออกไป เมื่อประธานสภาฯ อนุญาตให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย บรรยากาศก็เริ่มร้อนแรงขึ้นอีก

บรรยากาศ ในการประหว่างการอภิปราย ของนาย ชาดา ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสิบราย อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ได้ลุกฮือประท้วง กรูไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้า นายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดัง เพื่อกลบเสียงโหวกเหวกโวยวายของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่เมื่อ นายชาดา อภิปรายเสร็จ บรรดา ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็เริ่มตะโกนโวยวาย เพื่อขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีการตะโกนว่า "สภาทาส" โดยนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี ประท้วง โดยระบุว่า เร่งรีบอภิปราย ผิดปกติ รับคำสั่งมาจากใคร นายจุฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การะประชุมใช้เวลามานานแล้วตั้งแต่ 09.30-03.00น.ของวันรุ่งขึ้น ไม่เคยมีมาก่อน ประธานก็อ่อนล้า สมาชิกก็ล้าแล้ว ซึ่งอำนาจการสั่งพักประชุมเป็นของประธาน

นายสมศักดิ์ ประธานสภาฯ จึงให้ดำเนินการประชุมต่อ หลังจาก ที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติ ปิดอภิปราย จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้กดออกเรียกที่ประชุมลงมติทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ประธานว่า ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล ข้ามศพมันให้หมดเลยสุดซอย ของส.ส.ประชาธิปัตย์

แต่ในที่สุด ที่ประชุมสภาฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในมาตรา 3 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ทำการแก้ไข ด้วยคะแนน 307 เสียง

ซึ่งมาตรา 3 มีเนื้อหาระบุว่า "การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"

จากนั้นที่ประชุมสภาฯ ก็ เริ่มในการอภิปรายเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมม วาระ 4 โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า "ดิฉันสูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ว่าไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว แม้ว่าท่านจะดีต่อประเทศชาตินี้ขนาดไหน แต่มือท่านก็เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย ดิฉันของใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อของตน แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ แต่ตนก็อยากให้ กรรมาธิการทบทวน เพื่อเรียกความยุติธรรมเพื่อให้ความยุติธรรมให้เกิดขึ้นด้วย" แต่เข้าใจถึงสาเหตุของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ และยอมรับว่าไม่พอใจที่ กรรมาธิการเสียงข้างมาก

ทั้งนี้ที่ประชุมสภา ก็ได้มีมติ เห็นชอบเพิ่มเติม ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 ในเช้าตรู่ของวันที่ 1 พฤศจิกายนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง