ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกม.นิรโทษกรรม

การเมือง
1 พ.ย. 56
06:37
42
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกม.นิรโทษกรรม

ผู้นำฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทันทีหลังผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติแล้ว ขณะที่ ประธานวุฒิสภา เตรียมบรรจุร่างฯ พิจารณาในสัปดาห์หน้า และแม้สภาฯ จะผ่านวาระ 2 และ 3 ไปแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี รับทราบผลแล้ว แต่ปฏิเสธแสดงความเห็น โดยขอแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น

หลังเสร็จสิ้นพิธีสักการะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บริเวณวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และศาลพระกาฬ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม ครม. นอกสถานที่ โดยก่อนเข้าประชุมได้ปฏิเสธแสดงความเห็นที่สภาฯ ผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 และ 3 ไปแล้ว ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า จะขอให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม ขณะที่นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบผลการประชุมสภาฯ มาโดยตลอด แม้จะไม่ได้เข้าร่วมประชุม

ส่วนการพิจารณาร่าง พ..ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 ที่ลงมติเป็นรายมาตรา ซึ่งช่วงท้ายการประชุมได้เข้าสู่วันที่ 1 พ.ย.ได้พิจารณาผ่าน 5 มาตรารวด เนื่องจากฝ่ายค้านประท้วงการรวบรัดตัดสิทธิ์การอภิปราย จากนั้นที่ประชุมจึงได้ลงมติ วาระ 3 รับร่างทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง โดยกระบวนการจากนี้จะส่งให้วุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระแรก ซึ่งนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ระบุว่า จะบรรจุวาระพิจารณาไว้ 8 หรือ 11 พ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน กลุ่ม 40 ส.ว. โดยนายสมชาย แสวงการ มีจุดยืนที่จะคัดค้านร่างนี้ เพราะเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมต่อคดีทุจริตครั้งใหญ่

 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ย้ำว่า การพิจารณาของสภาฯ มีการริดรอนสิทธิการอภิปรายของผู้แปรญัตติ ทำให้ชัดเจนถึงความไม่ชอบ ด้วยเนื้อหาและข้อกฎหมาย รวมถึงการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐสภา พร้อมย้ำว่า จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหลังร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติทั้งหมด
 
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. มองว่า ขั้นตอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมยังมีอีกหลายขั้นตอน แม้ไม่เห็นด้วยแต่จะไม่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเดือน พ.ย.มีหลายสถานการณ์ที่จะเพิ่มน้ำหนักการออกมาเคลื่อนไหวของมวลชนพรรคประชาธิปัตย์
 
สอดคล้องกับข้อมูลของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ  สมช. ยอมรับต่อจำนวนผู้ชุมนุมที่อาจจะมีมากขึ้น เพราะเป็นช่วงตรงกับวันหยุด แต่ยังไม่พบความผิดปกติจากการติดตามสถานการณ์การชุมนุม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง