องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นยื่นแถลงการณ์ต่างชาติ

เศรษฐกิจ
5 พ.ย. 56
01:56
103
Logo Thai PBS
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นยื่นแถลงการณ์ต่างชาติ

การทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ในช่วงที่ผ่านมา เน้นการรณรงค์ และแสดงเจตนาว่าต้องการทำงานร่วมกับภาครัฐ แต่หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดัน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พวกเขาจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากได้ยื่นหนังสือต่อวุฒิสภาร่วมกับตัวแทนอธิการบดี 27 สถาบันแล้ว ยังได้ยื่นแถลงการณ์ต่อสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย

ประเทศสวีเดน ถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างมาก โดยดูได้จากคะแนนความโปร่งใสของประเทศ ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกอย่างต่อเนื่อง นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องไปยื่นแถลงการณ์ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนมองว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องของคนไทยเพียงอย่างเดียว แต่สังคมโลกก้มีส่วนในการแก้ปัญหาด้วย

นายมานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น บอกว่า ประเทศต่อไปที่คาดว่าจะมีการเดินทางไปยื่นแถลงการณ์ คือ จีน เพราะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้นำสมาชิกเดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย โดยต้องการให้นานาชาติจับตามองท่าทีของรัฐบาลไทย ในกรณีที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วน คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ก็เคยไปยื่นหนังสือต่อ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ภายใต้สภาวะทางการเมืองที่กดดัน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ส่วนใหญ่ ไม่มีความสุขในการทำงาน โดยความรู้สึกนี้ ได้สะท้อนไปที่ "คะแนนดัชนีความสุขของผู้ประกอบการ ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน" ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 6.06 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้ทำดัชนีชี้วัดความสำเร็จ และความสุขของเอสเอ็มอีไทย โดยมีตัวอย่างผู้ประกอบการ 274 ตัวอย่าง ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า ปัจจัยที่บั่นทอนความสุขของเอสเอ็มอีในตอนนี้มากที่สุด ก็คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง อยู่ที่ร้อยละ 75.5 อันดับ 2 คือ ความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 69.3 และ อันดับ 3 การทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 63.5 ปัจจัยเหล่านี้คือเรื่องหลักๆ ที่เอสเอ็มอีเป็นห่วง ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็อย่างเช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุน ระบบกฎหมายไทย มาตรการด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง