"นายกฯ" แถลงเดินหน้ากม.นิรโทษฯให้ส.ว.พิจารณา -ขอทุกฝ่ายให้อภัยลดขัดแย้ง

การเมือง
5 พ.ย. 56
07:19
38
Logo Thai PBS
"นายกฯ" แถลงเดินหน้ากม.นิรโทษฯให้ส.ว.พิจารณา -ขอทุกฝ่ายให้อภัยลดขัดแย้ง

"นายกฯ" แถลงเดินหน้ากม.นิรโทษกรรม ให้ส.ว.พิจารณาอย่างเต็มที่ และขอให้ทุกฝ่ายให้อภัยและลดความขัดแย้ง

วันนี้ (5 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า ตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลก็มีนโยบายในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และรัฐบาลไม่ก้างล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการและใช้อำนาจอย่างสมดุล โดยเจนารมณ์ก็คือ ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ รวมถึงได้จัดเวทีปฏิรูปทางการเมืองที่มีทุกฝ่ายเข้าร่วมโดยมีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ได้

นายกฯ ยังระบุว่า ขณะที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอกฎหมายฉบับต่าง ๆ หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารมิได้ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ จนกระทั่งตนเองถูกตำหนิว่า ่ไม่เข้าร่วมในการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่อย่างเต็มที่และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภา จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในหลายประเทศก็ได้ใช้การนิรโทษกรรมเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งไทยควรที่จะใช้เป็นบทเรียน และเรียนรู้ที่จะให้อภัย และเชื่อว่าความขัดแย้งจะลดลง

และจากเหตุการณ์ที่ผ่านมามีประชาชนที่ต้องสูญเสียชีวิตนับ 100 คน ที่ได้รับความบาดเจ็บมาจากความขัดแย้ง ซึ่งการนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่า ให้ลืมแต่ถือว่าเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ลูกหลานต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อีก และต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศหน้าเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ติดหล่ม และการให้อภัยต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์ เปิดใจกว้าง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ และนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตน

รวมถึงเมื่อ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนที่ดำเนินการตามขั้นตอน กลไกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างหนัก จนทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติหลายกลุ่มหลายกลุ่มและแม้ว่าสภาผู้แทนจะผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่ก็ยังเห็นว่ายังมีความขัดแย้งของคนหลายกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะให้อภัยและมีท่าทีที่จะเป็นบ่อเกิดความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งนี้ไม่ต้องการให้นำไปสู่ความขัดแย้ง ถกเถียงหรือการให้ข้อมูลที่สับสน บิดเบือนเพื่อที่จะล้มล้างรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งกรณีมองว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งขอยืนยันว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน เนื่องจากตนเองไมได้ลงนาม รวมถึงการระบุว่า เป็นกฎหมายที่ปกปิดการคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่ใช่และกฎหมายดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองการรัฐประหาร และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย้ำว่า จะยึดประโยชน์ของประเทศชาติ และรัฐบาลจะไม่ใช้เสียงข้างมากในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งจะฟังทั้งเสียงที่สนับสนุนและคัดค้านและภายใต้บรรยากาศที่ขัดแย้งอยู่นี้ ต้องการให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่จะสร้างความขัดแย้งต่อไป โดยกระบวนการตรากฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา จึงใคร่ขอเสนอว่า ให้วุฒิสมาชิกใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่  โดยอาศัยพื้นฐานของความปรองดอง ความเมตตาธรรมกับผู้ที่เดือดร้อน เจ็บปวดเป็นเวลานานให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ซึ่งเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติเป่นหลักและไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินอย่างไร จะเห็นด้วย จะยับยั้ง หรือการแก้ไขก็ตาม เชื่อว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะยอมรับผลการพิจารณาของวุฒิสภา


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง