คณาจารย์ - นิสิตจุฬาลงกรณ์ คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม

การเมือง
5 พ.ย. 56
13:44
140
Logo Thai PBS
คณาจารย์ - นิสิตจุฬาลงกรณ์ คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม

ผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันอ่านแถลงการณ์ และเดินขบวนคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ ป.ป.ช.แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วย พร้อมบอกว่าเตรียมทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา และสหประชาชาติ โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 3 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงขัดต่อสนธิสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาติ ซึ่งไทยได้ลงนามไว้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.แถลงจุดยืนต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลกระทบสำคัญต่อการตรวจสอบคดี ในกรณีคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนมากว่า 25,000 คดี ในจำนวนนี้มี 666 เรื่อง ที่ชี้มูลความผิดไปแล้ว รวมถึงมีคดีที่เสร็จเด็ดขาดในชั้นศาลไปแล้ว 5 เรื่อง โดยเฉพาะคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ศาลตัดสินยึดทรัพย์กว่า 40,000 ล้านบาท คดีที่ดินรัชดา คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้เป็นอันต้องระงับทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีผลต่อความมั่นคงของชาติ และส่งผลกระทบต่อกระบวนยุติธรรม รวมถึงขัดต่อสนธิสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาติ ซึ่งไทยได้ลงนามไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยในวันพรุ่งนี้  ป.ป.ช.จะทำความเห็น โดยชี้ให้เห็นถึงผลดี และผลเสีย โดยเฉพาะมาตรา 3 ส่งให้วุฒิสภา พร้อมกันนี้จะส่งไปยังตัวแทนสหประชาชาติด้วย 
 
ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการบางส่วนใช้เวลาในช่วงเลิกงานแสดงจุดยืนทางการเมืองร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นวันที่ 2 แม้ว่ารัฐมนตรี และปลัดกระทรวงพาณิชย์จะขอให้ระวังในการแสดงออก โดยขอให้ชุมนุมนอกเวลาราชการ แต่พวกเขายืนยันใช้สิทธิในฐานะประชาชนต่อการแสดงจุดยืน โดยชี้ว่าหากไม่ออกมาคัดค้านในตอนนี้ก็อาจจะช้าเกินไป พร้อมระบุด้วยว่าจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ไปจนกว่าจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ผู้บริหาร พร้อมด้วยคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิต ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน รวมตัวที่ด้านหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล โดยการนำของ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี ก่อนที่ตัวแทนนิสิต และคณาจารย์จะร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้นำไปสู่ความขัดแย้ง และก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมขึ้นเรื่อยๆ และการออกกฎหมายมุ่งล้างผิดให้คนที่ทุจริตคอร์รัปชันเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงเรียกร้องให้วุฒิสภายับยั้ง และส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่อีกครั้ง จากนั้นทั้งหมดเคลื่อนขบวนไปยังหอศิลปวัฒนธรรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกัน
 
ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล ขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศด้วยการไม่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องในสังคมไทย เพราะทำให้เข้าใจผิดว่าการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่สิ่งร้ายแรง และสามารถหลุดพ้นจากความผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม
 
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทยรวมตัวกันประณาม และไม่ยอมรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากมีการแก้ไขเนื้อหากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนที่อยู่แดนไกลให้พ้นผิด โดยทางเครือข่ายจะต่อต้านทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้  
 
ด้านเครือข่ายแพทย์ อาจารย์แพทย์บุคลากรทางการแพทย์ และครอบครัวในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนร่วมลงรายชื่อจำนวน 2,580 คน คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีคอร์รัปชั่น และคดีอาญา 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง