ผู้ค้าย่านสีลมยันการชุมนุมไม่กระทบยอดขาย

เศรษฐกิจ
7 พ.ย. 56
01:34
69
Logo Thai PBS
ผู้ค้าย่านสีลมยันการชุมนุมไม่กระทบยอดขาย

การชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับค่อนข้างมาก แต่มติล่าสุดได้ยุติการนัดชุมนุมทุกวันจันทร์ และพุธออกไปชั่วคราว แต่ในวันนี้ (7 พ.ย.) ยังคงจัดกิจกรรมเป่านกหวีดที่แยกอโศก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ ที่ค้าขายในย่านนี้อยู่แล้ว บอกว่า วันที่มีการชุมนุมไม่ได้กระทบยอดขายมากนัก แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่มียอดขายดีขึ้น

เสียงนกหวีด จากผู้ชุมนุมในย่านสีลม ที่ต้องการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังขึ้นอีกครั้ง จากการสำรวจ ผู้ชุมนุมมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนทำงาน, แม่บ้าน และผู้สูงอายุ ที่เริ่มทยอยมากันตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อมาชุมนุมร่วมกับชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย

12.34 น.ผู้ชุมนุมพร้อมใจกันเป่านกหวีดนาน 1 นาที บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง แต่ผู้มาชุมนุมมีจำนวนลดลง ซึ่งต่างกับเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ถนนสีลม ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ข่าวการคว่ำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของวุฒิสภาช่วยลดกระแสความร้อนแรง

นายสมเกียรติ ยืนยันว่า จะไม่ยกระดับการชุมนุม เพราะต้องการค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การชุมนุมที่สีลมเมื่อวาน (6 พ.ย.) จัดขึ้นเป็นวันสุดท้าย ส่วนวันนี้จะไปชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศก หลังจากนั้น จะงดกิจกรรมเพื่อรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในวันที่ 11 พฤศจิกายน

บรรยากาศก็ดูไม่ค่อยตึงเครียด ผู้ชุมนุมหลายคนก็ดูสดใสด้วย ปรากฎการณ์ "เป่านกหวีด" ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวในการชุมนุมที่สีลมทำให้ "นกหวีด" กลายเป็นสินค้าขายดีไปทันที

นกหวีดที่วางขาย มีราคาอันละ 30 บาท ซึ่งจากการสังเกต มีคนเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า และจากการสอบถามผู้ที่มาซื้อ ส่วนใหญ่จะซื้อไปฝากเพื่อนที่ทำงาน และคนในครอบครัว ส่วนนกหวีดที่มีการแจกในพื้นที่กิจกรรมชุมนุม ก็มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

ถนนสีลม กลายเป็นพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่เด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2540 ในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จนทำให้มีการปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง และอีกครั้งในการประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 ตั้งแต่นั้นมา ถนนสีลมจึงเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของนักธุรกิจ และชนชั้นกลาง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง