วิเคราะห์ถอนร่าง"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-ปรองดอง" 6 ฉบับ

7 พ.ย. 56
13:26
171
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ถอนร่าง"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-ปรองดอง" 6 ฉบับ

อดีตประธานรัฐสภาระบุว่า ข้อเสนอให้นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ขอมติอนุมัติถอนร่างกฎหมายออกจากสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างถึงข้อบังคับการประชุมข้อที่ 53 นั้น "ไม่สามารถกระทำได้" เนื่องจากร่างกฎหมายเข้าสู่ขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างพ.ร.บ.ปรองดอง รวม 6 ฉบับ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ส.ส.เจ้าของร่างกฎหมายได้ขออนุมัติจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อถอนร่างกฎหมายออกไปแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 1 เสียง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 21 และ 53

ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (7 พ.ย.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แจ้งผลการหารือกับส.ส.เจ้าของร่างพ.ร.บ.ปรองดองและร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 6 ฉบับ ได้รับคำยินยอมที่จะถอนร่างกฎหมายออกจากระเบียบวาระการประชุมที่ค้างการพิจารณาอยู่ จึงขออนุญาตใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 21 ในการเลื่อนร่างกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน และอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 53 เพื่อขออนุมัตจากห้องประชุม เพื่อลงมติถอนออกจากระเบียบวาระ

หลังจากนั้น นายนิคม วรปัญญา ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงนายสามารถ แก้วมีชัย นายพีระพันธุ์ พาลุสุข นายนิยม วรปัญญา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ก็ลุกขึ้นเสนอญัตติขอถอนร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุม ซึ่งที่ประชุมก็ลงมติ 310 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบให้ถอนออกไป

<"">

การพิจารณาถอนร่างกฎหมายที่มีลักษณะของการนิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับนี้ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 53 ระบุว่า ญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว หากผู้เสนอญัตติจะถอนญัตติ หรือจะแก้ไขเพิ่มเติม หรือจะถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอ หรือผู้รับรองจะถอนการรับรองญัตติ จะต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุม

อดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่งเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ค้างการพิจารณานั้น สามารถดำเนินการได้ตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณานั้น แม้จะมีข้อเสนอของนักวิชาการให้นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เจ้าของร่างกฎหมายขอมติอนุมัติจากสภาฯ เพื่อถอนร่างกฎหมายโดยเร็ว แต่ตามหลักปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากร่างกฎหมายได้ถูกพิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไปแล้ว

<"">
<"">

ดังนั้นการดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมาย จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 147 และ 148 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถอ้างอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภา เพื่อดำเนินการถอนร่างกฎหมายโดยเร็วได้ หากแต่ต้องรอให้วุฒิสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งหากวุฒิฯ ลงมติยับยั้ง หรือคว่ำร่างกฎหมาย ก็ย่อมหมายความว่า ตามกระบวนการนั้นต้องรอให้ครบกำหนด 180 วัน ก่อนแสดงเจตจำนงค์ถอนร่างออกจากระบบ หรือปล่อยให้ตกไป มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง