“สุรพงษ์” เผยหลักฐานเพิ่มกรณีปราสาทพระวิหาร

การเมือง
9 พ.ย. 56
03:12
41
Logo Thai PBS
“สุรพงษ์” เผยหลักฐานเพิ่มกรณีปราสาทพระวิหาร

รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการตัดสินของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร ชี้หลักฐานใหม่ การที่ไทยยินยอมให้ทางกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2550 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งนี้ไม่ว่าผลของศาลโลกจะออกมาเป็นเช่นไร ตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เพื่อหารือถึงทางออกอีกครั้ง

นายสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประประชาชนถึงกรณีการตัดสินของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศได้อธิบายถึงข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหารว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2502 ที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลก ซึ่งศาลโลกได้มีการตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา โดยให้ไทยถอนทหาร และตำรวจออกจากบริเวณนั้น ซึ่งไทยเองก็ปฏิบัติตาม แม้จะไม่เห็นด้วย โดยได้มีการส่งหนังสือไปยังองค์การสหประชาชาติว่า ทางไทยไม่เห็นดัวยกับคำตัดสินของศาล แต่จะยอมทำตามคำพิพากษาในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยของสงวนสิทธิ์ ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารโดยวิธีการทางกฎหมาย

ส่วนคำตัดสินของศาลโลกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พศจิกายน 2556 นี้ถ้าเกิดผลออกมาเป็นทางลบของประเทศ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลแต่ต้องปฏิบัติตาม ในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ทำให้ประเทศไทยเป็นภาคีของศาลโลกโดยอัตโนมัติ ซึ่งถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เราต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับประเทศอย่างแน่นอน

ซึ่งไม่ว่าผลในวันที่ 11 จะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลตั้งใจว่าจะต้องถามประชาชน และนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ และตั้งใจว่าไม่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรจะต้องตัดสินใจร่วมกับประชาชน

ซึ่ง รมว.ต่างประเทศได้เผยถึงข้อความในเอกสารลับ ที่เพิ่งค้นพบว่า ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา เห็นพ้องต้องกันในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และมีหนังสือแถลงการณ์แสดงความยินดี เมื่อ 9 ก.ค. 2550 ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกมีฉันทามติเกี่ยวกับการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งไทยและกัมพูชาตกลงอย่างเข้มแข็งในการทำแผนอนุรักษ์ และบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และในหนังสือฉบับนี้ ยังได้เขียนว่าฝ่ายไทยได้ออกแถลงข่าวแสดงความยินดีต่อประเทศและประชาชนกัมพูชา พร้อมแสดงเจตนาอย่างมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ และบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันต่อไป

มาจนถึงสมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551 ไทยพยายามรักษาสิทธิทางเขตแดนจึงประท้วงและคำขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา จนกัมพูชาปรับคำขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ในสมัยรัฐบาลสมัคร ข้อมูลในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์หายไป สังคมก็ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศระบุว่า ในเรื่องคดีปราสาทพระวิหารตนเอง และทีมทนายทำอย่างเต็มที่ แต่เมื่อคดีสิ้นสุด ทางไทยกับกัมพูชา จะมาตกลงเจรจากันอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง