ผู้ชุมนุมค้านนิรโทษกรรมยกระดับการชุมนุม วันนี้

การเมือง
13 พ.ย. 56
03:31
51
Logo Thai PBS
ผู้ชุมนุมค้านนิรโทษกรรมยกระดับการชุมนุม วันนี้

แกนนำการชุมนุมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยืนยันว่า 4 มาตรการอารยะขัดขืน เป็นการขอความร่วมมือ ไม่ใช่การบังคับให้ปฏิบัติตาม พร้อมระบุด้วยว่า หลังยกระดับการชุมนุมในช่วง 3 วันนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์ก่อนประกาศท่าทีการชุมนุมอีกครั้ง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นปราศรัยบนเวที ชี้แจงมาตรการยกระดับการชุมนุมระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. 4 แนวทางอารยะขัดขืน คือ ขอให้มีการหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อให้มาร่วมชุมนุม ขอให้ภาคเอกชนชะลอการชำระภาษีกลางปี ขอให้ต่อสู้ด้วยสัญลักษณ์ ธงชาติ และขอความร่วมมือประชาชนให้เป่านกหวีด เมื่อเจอนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และกลุ่มผู้สนับสนุน

 
นายสุเทพ ชี้แจงถึงแนวทางดังกล่าวว่า มาตรการที่บอกให้หยุดงานทั่วประเทศ 3 วัน ไม่ได้ขอให้บริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งหยุดด้วย เพราะเห็นว่าหากหน่วยงานดังกล่าวหยุดงานแล้วประชาชนก็จะเดือดร้อน ส่วนมาตรการให้ภาคธุรกิจชะลอจ่ายภาษีก็บอกชัดเจนว่า ให้นักธุรกิจจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลช้าๆ ไม่ใช่ไม่ให้เสียภาษี แต่ทั้งนี้นักธุรกิจจะต้องปรึกษากันเองว่า จะต้องทำอย่างไร
 
สำหรับการต่อสู้โดยใช้สัญลักษณ์ธงชาตินั้น ก็เพราะเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อชาติและแผ่นดิน และมาตรการสุดท้าย ที่ให้เป่านกหวีดใส่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ก็เป็นการแสดงออกโดยไม่ใช้วาจารุนแรงต่อบรรดาคนเหล่านี้ จึงเห็นว่าไม่ใช่มาตรการที่ขัดต่อกฎหมาย
 
ส่วนในวันนี้ (13 พ.ย.) ก็จะประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง และในวันที่ 15 พ.ย. จะมีการประเมินผล 4 แนวทางอารยะขัดขืน และอาจจะมีการยกระดับอีกครั้งหนึ่ง
 
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. ยืนยันว่า แนวทางการชุมนุมของกลุ่มนั้น เคลื่อนไหวโดยกลุ่มนักศึกษา และมีจุดประสงค์ชัดเจน โดยเน้นเนื้อหาวิชาการ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 117 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ตัดสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชุมนุม
 
ส่วนประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร แกนนำยังไม่เน้นในประเด็นนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังมีความสับสนในข้อมูลวิชาการจากฝ่ายต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถอธิบายให้ผู้ชุมนุมเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากคำพิพากษาของศาลโลก
 
ขณะที่การชุมนุมของ ภาคีเครือข่ายประชาชน77 จังหวัด กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. และกองทัพธรรม หลังเคลื่อนไหวไปถวายฎีกา เพื่อขอให้พระราชทานตั้งสภาประชาชน ที่สำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะประธานกองทัพธรรม เปิดเผยว่า กลุ่มของตนต้องการให้สังคมเห็นว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรม และประชาชนไม่ยอมรับในการบริหารประเทศ พร้อมยืนยันว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้ยุติบทบาทไปแล้ว
 
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พร้อม ส.ส. 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้จัดเวที "นปช.เพื่อคนไทย" ปกป้องประชาธิปไตย โดย มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ น.พ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. พร้อมผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ชุมนุมร่วมกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่ง
 
โดยนางเยาวภา ขึ้นกล่าวปราศรัยสนับสนุนให้มีการต่อต้านกลุ่มโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ชาวเหนือ รวมพลังต่อสู้กับอำนาจนอกระบบทุกรูปแบบ โดยขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเป่าแตรขับไล่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออก 9 คน ที่หวังล้มรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง