การเมือง 2 ขั้ว 2 พรรค 2 มวลชน

16 พ.ย. 56
13:40
56
Logo Thai PBS
การเมือง 2 ขั้ว 2 พรรค 2 มวลชน

ท่ามกลางสถานการณ์ความเห็นต่างของสังคมการเมืองไทย ต่อกฎหมายนิรโทษกรรม จนกลายเป็นข้อสังเกตถึงความไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวม 146 คน ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล เพื่อซักฟอกรัฐบาลในทุกประเด็น ที่อยู่ในความเคลือบแคลงสงสัย แต่ถ้านำมาผนวกกับสถานการณ์ การชุมนุมขับไล่รัฐบาล ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่วันนี้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 17 กับการนัดหมายชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช.ที่กำลังจะมีขึ้น ในวันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานนั้น สะท้อนภาพการเมือง 2 ขั้ว และ 2 มวลชน กำลังต่อสู้กันทั้งในระบบ และนอกระบบ

แม้ก่อนหน้านี้จะประกาศไม่ขอเหลียวหลังดูแลรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่หลังเคลียร์ใจกัน แกนนำ นปช.ก็นัดหมายชุมนุมใหญ่ ซึ่งนอกจากจะกลับเจตนาเดิมมาปกป้องรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว ยังประกาศร่วมกันรับฟังคำวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.

ส่วนกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำมวลชนชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล และกำจัดระบอบทักษิณ โดยบอกปัดไม่เกี่ยวข้องกับพรรคต้นสังกัดในอดีต แต่มีข้อสังเกตได้ว่า 2 กลุ่มมวลชนนี้ขับเคลื่อน และเดินเกมแบบคู่ขนานกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย โดยบริบทสะท้อนว่าสู้กันทั้งเกมในสภาฯ และนอกสภา รวมถึงข้อกฎหมายที่คาดหวังไปที่องค์กรอิสระ

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกอยู่ในกระแสว่ากำลังมีทางเลือกที่จะ "ยุบสภา" เพื่อตัดสินใจแก้สถานการณ์ที่ปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้ แต่จะขับเคลื่อน 3 แนวทางด้วยกัน เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองให้ได้มากที่สุด

แนวทางแรก คือมวลชนคนเสื้อแดงที่จะใช้เวที นปช.ทั่วประเทศชี้แจงทำความเข้าใจกับมวลชนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองอันสำคัญยิ่งให้เห็นพ้องตรงกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ทางที่ 2 คือการอาศัยอำนาจฝ่ายบริหาร เพื่อชี้แจงนโยบาย และผลงานผ่านทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อของรัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนให้กลับมามากที่สุด และแนวทางสุดท้าย คือสายแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ และประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ควบคู่ไปกับการเจรจาทำความเข้าใจแนวทางทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และการชุมนุมของมวลชนกลุ่มนำ ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะต้องวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองร่วมกัน และมีแนวทางขับเคลื่อน 3 แนวทางเช่นกัน

แนวทางแรก คือการเดินสายปรากฏตัวในทุกเวทีของแกนนำพรรค โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาทั้งในระบบ และนอกระบบ ต้องเดินสายชี้แจงแนวทางทางการเมืองให้ชัดทั้งเวทีมวลชน และเวทีเชิงวิชาการ ทุกระดับทุกกลุ่มก้อนในสังคม

แนวทางที่ 2 คือการขับเคลื่อนในฝ่ายนิติบัญญัติ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม และเดินหน้าญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ แต่ถือเป็นอีกช่องทางที่จะเพิ่มคะแนนเพิ่มมวลชน

โดยแนวทางที่ 2 ต้องเกื้อหนุนไปยังแนวทางที่ 3 หรือแนวทางสุดท้าย ที่ล่าสุดนายสุเทพ ประกาศยกระดับเป็นครั้งที่ 2 เพิ่มเงื่อนไขจากต่อต้านนิรโทษกรรม ไปขับไล่รัฐบาลแล้ว ดังนั้น นับจากนี้ไป ทั้งพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์คงต้องชิงไหวชิงพริบทางการเมืองกัน "แบบวันต่อวัน"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง