วิเคราะห์ 2 ขั้วการเมืองกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

การเมือง
19 พ.ย. 56
13:19
124
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ 2 ขั้วการเมืองกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และการได้มาซึ่งการปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 หรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.2556) เวลา 11.00 น. ท่ามกลางข้อสังเกตว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังตกอยู่ในกระแสกดดันจาก 2 ขั้วการเมือง หรือ 2 ฝ่ายด้วยกัน

นั่นคือ รัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 2 ขั้ว คือ กลุ่ม นปช.และกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ที่คาดการณ์กันถึงผลพวงของคำวินิจฉัย โดยกลุ่มแรก เชื่อว่า คำวินิจฉัยจะกลายเป็นชนวนให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้น แต่อีกกลุ่ม มั่นใจว่า คำวินิจฉัยจะคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
 
ก่อนถึงกำหนดเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. มีความเคลื่อนไหวจากหลากหลายกลุ่ม จนกลายเป็นข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามกดดัน เพื่อหวังผลในคำวินิจฉัยหรือไม่
 
แม้แกนนำหรือแนวร่วมของกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม จะปฏิเสธการคาดหวังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. จะคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ยอมรับกันว่า หากคำวินิจฉัยเป็นคำตอบของแนวทางการ "ขับไล่รัฐบาล"
 
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ออกมาส่งสัญญาณว่า เงื่อนไขตามคำร้องว่าขัดมาตรา 68 ไม่เพียงแค่ล้มล้างการปกครอง แต่ยังหมายถึงการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
และอีกฟากฝั่ง คือ กลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนชป. ก็นัดหมายชุมนุมปกป้องรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และขีดเส้นประเมินกิจกรรมไว้ในวันเดียวกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย ว่าจะยุติการชุมนุม หรือเดินหน้าชุมนุมยกระดับ
 
ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.ส่วนหนี่ง ร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืน ว่าขอปฏิเสธอำนาจศาล และย้ำว่า ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาแนวทางใด ก็จะไม่ปฏิบัติตาม และพ่วงท้ายว่าเตรียมจะยื่นถอดถอนต่อไปด้วย
 
ยังไม่นับรวมความเป็นของบุคคลในรัฐบาล หรือในพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาแสดงทัศนะในเชิงลบ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จะนำมาซึ่ง เหตุความวุ่นวายของบ้านเมืองบ้าง เติมเชื้อไฟบนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ้าง หรือชี้ไปถึงการเกิดสงครามกลางเมือง
 
เป็นที่ถูกจับตามองกันว่า 2 ขั้วทางการเมืองและ 2 กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน มวลชนสนับสนุนรัฐบาลและมวลชนต่อต้านรัฐบาล กำลังกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างกับบริบทรอบด้านที่เกิดขึ้นตอนนี้
 
บทบาทของอดีต ส.ส.ร. ปี 2540 นำโดยนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ร่างมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และนำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 68  ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของมาตรานี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ
 
พร้อมกับชี้ว่า ตุลาการ 3 คนได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล,นายอนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 จึงควรถอนตัวจากการวินิจฉัย และเห็นว่า นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นตุลาการใหม่ ไม่ควรร่วมวินิจฉัยในครั้งนี้และด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ก็ยื่นหนังสือขอให้ นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถอนตัวออกจากการวินิจฉัย เพราะเคยมีสถานะเป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2550 ส่วนนายบุญส่ง กุลบุปผา มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ต่อไป
 
ถ้าเทียบความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น กับวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ อาจสะท้อนภาพถึงแรงกดดันที่ส่งตรงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังกลายเป็นแรงบีบคั้นให้ตุลาการ รวม 5 คน จากทั้งหมด 9 คน ควรถอนตัวจากการวินิจฉัย และนี่อาจเป็นที่มาของความคาดหวังที่จะยุติการวินิจฉัยคำร้องเรื่องนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ชี้ชัดว่า องค์คณะตุลาการที่จะนั่งพิจารณาและวินิจฉัยคำร้องต้องไม่น้อยกว่า 5 คน และการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก
 
ตามขั้นตอนนั้น ช่วงเช้า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน จะประชุมพิจารณาและอ่านคำวินิจฉัยส่วนตน ก่อนลงมติวินิจฉัยคำร้อง และในเวลา 11.00 น.ก็จะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกลางต่อหน้าฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง และคงจะเป็นที่ทราบทั่วไปว่าคำวินิจฉัยจะชี้ขาดเพียงแค่คำร้อง หรือมีผลพวงไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ด้วยหรือไม่ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง